สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ก่องข้าวหลวง

ก่องข้าวหลวง
วันที่ 29 เมษายน 2559

Abutilon persicum (Burm.f.) Merr.

Malvaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 3 ม. มีขนสั้น ขนต่อม และขนรูปดาวตามลำต้น กิ่ง แผ่นใบด้านล่าง ก้านใบ เส้าเกสร และผล ใบรูปไข่กว้าง ยาว 4–20 ซม. ปลายยาวคล้ายหาง โคนรูปหัวใจ ขอบใบจักซี่ฟัน ก้านใบยาวได้ถึง 8 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือคล้ายช่อแยกแขนงตามปลายกิ่งที่ใบลดรูป ก้านดอกยาว 2.5–3 ซม. มีข้อต่อที่จุดกึ่งกลาง กลีบเลี้ยงแฉกลึกประมาณกึ่งหนึ่ง ขยายในผล กลีบดอกรูปไข่กลับกว้าง ยาว 3–4 ซม. มีขนกระจายด้านนอก เส้าเกสรยาวประมาณ 4 มม. ก้านเกสรเพศผู้ยาว 2–2.5 ซม. มี 5–6 คาร์เพล ผลแห้งแยกเป็น 5–6 ซีก รูปครึ่งวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–2 ซม. แต่ละซีกมี 4–6 เมล็ด (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ มะก่องข้าว, สกุล)

พบในแอฟริกา เอเชียเขตร้อน และออสเตรเลีย ในไทยพบทั่วทุกภาค ขึ้นเป็นวัชพืช ลำต้นเป็นเส้นใยใช้ทำเชือก น้ำสกัดจากใบผสมรากเทียนกิ่ง Lawsonia inermis L. พริกไทย และข้าว กินแก้โรคดีซ่าน

ชื่ออื่น   ก่องข้าวต้น (เชียงใหม่); ก่องข้าวหลวง (ภาคเหนือ); ครอบ (ภาคกลาง)

ก่องข้าวหลวง: ขอบใบจักซี่ฟัน ผลแบบผลแห้งแยกเป็น 5–6 ซีก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Malvaceae. In Flora of China Vol. 12: 276.

van Borssum Waalkes, J. (1966). Malesian Malvaceae revised. Blumea 14: 161.