สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ก่วม

ก่วม  สกุล
วันที่ 29 เมษายน 2559

Acer L.

Sapindaceae

ไม้ต้น ไม่มีหูใบ มีเกล็ดหุ้มตา (winter buds) ใบเดี่ยว เรียบ จักเป็นพู หรือเป็นใบประกอบรูปฝ่ามือ มี 3–5 ใบย่อย เรียงตรงข้าม ช่อดอกมีหลายแบบ ดอกขนาดเล็ก มีทั้งแบบดอกเพศผู้ร่วมต้น หรือแยกต้นกับดอกสมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกส่วนมากมีจำนวนอย่างละ 5 กลีบ เกสรเพศผู้ส่วนมากมี 8 อัน มี 2 คาร์เพล เชื่อมติดกัน แต่ละคาร์เพลมีออวุล 1–2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียแยก 2 แฉก ผลแบบปีกเดียว ส่วนมากติดเป็นคู่ มีเมล็ดเดียว

สกุล Acer เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Aceraceae ปัจจุบันอยู่วงศ์ย่อย Hippocastanoideae ร่วมกับสกุลมะเนียงน้ำ Aesculus มี 126 ชนิด พบทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ในจีนมีพืชถิ่นเดียวถึง 66 ชนิด ในไทยมี 6 ชนิด ชื่อสกุลเป็นภาษาละตินหมายถึงต้นเมเปิล ซึ่งมาจากภาษากรีกโบราณ Akkadian “arku” หมายถึงมีหางยาว ตามลักษณะของปลายใบหลายชนิด


ก่วม
วันที่ 29 เมษายน 2559

Acer oblongum Wall. ex DC.

Sapindaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึงประมาณ 20 ม. ใบรูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 5–17 ซม. โคนกลมหรือรูปลิ่ม แผ่นใบด้านล่างมีนวล เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น เส้นแขนงใบข้างละ 6–7 เส้น เส้นโคนใบโค้งไม่ถึงกึ่งกลางแผ่นใบ ก้านใบยาว 2–5 ซม. ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาวไม่เกิน 10 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ก้านดอกยาว 1–2 ซม. กลีบเลี้ยงรูปขอบขนาน ดอกสีเหลืองอมเขียว กลีบรูปไข่กลับ จานฐานดอกจักเป็นพูตื้น ๆ อยู่ด้านนอกวงเกสรเพศผู้ รังไข่มีขนสั้นนุ่ม ผลรูปรี นูนชัดเจน ยาวประมาณ 7 มม. ผนังด้านในมีขนยาวหนาแน่น ปีกยาว 1.5–2.5 ซม. กางออกกว้าง

พบที่อินเดีย ปากีสถาน ภูฏาน เนปาล จีนตอนใต้ พม่า ลาว และเวียดนาม ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1600 เมตร

ก่วม: มีเกล็ดหุ้มตา ใบเรียงตรงข้าม ด้านล่างมีนวล ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ผลรูปรี นูนชัดเจน ปีก กางออกกว้าง (ภาพ: โสมนัสสา แสงฤทธิ์)

ก่วมเชียงดาว
วันที่ 29 เมษายน 2559

Acer chiangdaoense Santisuk

Sapindaceae

ไม้ต้น ส่วนมากสูง 5–15 ม. ลำต้นมักแคระแกร็น มีขนละเอียดตามกิ่งอ่อน ใบอ่อน และช่อดอก ใบรูปไข่หรือรูปไข่กว้าง ยาว 4–11 ซม. ขอบเรียบ แผ่นใบด้านล่างมีนวล เส้นโคนใบข้างละ 1–2 เส้น เส้นแขนงใบข้างละ 3–4 เส้น คู่ล่างโค้งถึงประมาณกึ่งกลางใบ ช่อดอกคล้ายช่อเชิงหลั่นแยกแขนงสั้น ๆ ออกที่ปลายกิ่ง ยาว 3.5–8 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ก้านดอกยาว 0.5–1 ซม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2.5 มม. ดอกสีขาว กลีบดอกยาวกว่ากลีบเลี้ยงเล็กน้อย ช่อผลมักตั้งขึ้น ผลรูปรีเป็นเหลี่ยมมน ยาว 0.5–1 ซม. ปีกยาว 1.4–1.8 ซม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะทางภาคเหนือที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และดอยตุง จังหวัดเชียงราย ขึ้นตามเขาหินปูน ความสูง 1300–2200 เมตร

ก่วมเชียงดาว: ใบรูปไข่หรือรูปไข่กว้าง ช่อดอกคล้ายช่อเชิงหลั่นแยกแขนงสั้น ๆ ช่อผลตั้งขึ้น ผลรูปรีเป็นเหลี่ยมมน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ก่วมแดง
วันที่ 29 เมษายน 2559

Acer calcaratum Gagnep.

Sapindaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. กิ่งเกลี้ยง ใบรูปฝ่ามือมี 3 แฉก ด้านกว้างส่วนมากยาวกว่าด้านยาว ยาว 6–15 ซม. โคนกลมหรือเว้าตื้น ขอบเรียบ เส้นแขนงใบรูปฝ่ามือ ก้านใบยาว 1.5–4.5 ซม. เปลี่ยนเป็นสีแดงก่อนร่วง ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ออกสั้น ๆ ตามปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงสีแดง ยาวประมาณ 2 มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม กลีบดอกสีขาว ยาวเท่า ๆ กลีบเลี้ยง ก้านดอกยาว 1.5–2 ซม. ก้านชูอับเรณูยาว 3–4 มม. ในดอกเพศผู้ อับเรณูสีแดง จานฐานดอกอยู่ด้านนอกวงเกสรเพศผู้ เกลี้ยง ผลรูปไข่ กว้างประมาณ 7 มม. ยาวประมาณ 5 มม. ปีกยาว 3–5 ซม.

พบที่จีนตอนใต้ พม่า และเวียดนาม ในไทยพบทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ น่าน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เลย ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูง 1300–2200 เมตร

ก่วมแดง: ใบรูปฝ่ามือมี 3 แฉก ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ออกสั้น ๆ ตามปลายกิ่ง จานฐานดอกอยู่ด้านนอกวงเกสรเพศผู้ (ภาพ: โสมนัสสา แสงฤทธิ์, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

ก่วมขาว
วันที่ 29 เมษายน 2559

Acer laurinum Hassk.

Sapindaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 35 ม. ใบรูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 9–15 ซม. โคนรูปลิ่มกว้างหรือกลม แผ่นใบด้านล่างมีนวลและมีขนสั้น เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น โค้งเลยกึ่งกลางแผ่นใบ เส้นแขนงใบข้างละ 5–6 เส้น ก้านใบยาวได้ถึง 10 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนงสั้น ๆ ออกตามซอกใบ หรือยาวได้ถึง 10 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ก้านดอกยาว 0.5–1.5 ซม. ขยายในผลเล็กน้อย กลีบเลี้ยงรูปไข่แคบ ๆ ยาว 2.5–3 มม. ดอกสีเหลืองอ่อน ๆ กลีบยาวเท่า ๆ กลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้ 4–12 อัน ติดบนจานฐานดอก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 5 มม. ลดรูปในดอกเพศเมีย ผลรูปรีเป็นเหลี่ยมมน แบน ๆ ยาวประมาณ 1.5 ซม. ปีกยาว 4–7 ซม.

พบที่อินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ในไทยพบทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เลย และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี ขึ้นตามป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา ความสูง 500–1500 เมตร

ชื่อพ้อง  Acer garrettii Craib

ก่วมขาว: ช่อดอกแบบกระจะแยกแขนงสั้น ๆ ออกตามซอกใบ มีขนสั้นนุ่ม ผลรูปรีเป็นเหลี่ยมมน แบน ๆ (ภาพ: โสมนัสสา แสงฤทธิ์)

ก่วมภูคา
วันที่ 29 เมษายน 2559

Acer pseudowilsonii Y.S.Chen

Sapindaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. กิ่งเกลี้ยง ใบรูปฝ่ามือมี 3 แฉก หรือจักมนที่โคนทั้งสองข้าง ยาว 10–13 ซม. กว้าง 11.5–14 ซม. เปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มหรือแดงก่อนผลัดใบ ปลายแหลมยาวคล้ายหาง เส้นแขนงใบรูปฝ่ามือ ก้านใบยาว 4.5–5.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงออกตามปลายกิ่ง ห้อยลง ยาว 10–20 ซม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1 มม. มีขนสั้นนุ่ม กลีบดอกสีขาว ขนาดเท่า ๆ กลีบเลี้ยง หรือยาวกว่าเล็กน้อย ขอบจัก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1 มม. อับเรณูสีแดง ผลรูปรี ยาวประมาณ 1 ซม. ปีกยาว 3–3.5 ซม. กางออก ก้านผลยาว 1.3–1.8 ซม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือที่ดอยภูคา จังหวัดน่าน ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูง 1000–1400 เมตร เคยระบุว่าเป็นชนิด A. wilsonii Rehder

ก่วมภูคา: ใบรูปฝ่ามือมี 3 แฉก ปลายแหลมยาวคล้ายหาง ผลมีปีกกางออก (ภาพ: โสมนัสสา แสงฤทธิ์, ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Chen, Y.S. (2010). A new species of Acer (Aceraceae) from northern Thailand. Blumea 55(3): 242–245.

Santisuk, T. (1998). A systematic study of the genus Acer (Aceraceae) in Thailand. Natural History Bulletin of the Siam Society 46: 93–104.

Xu, T., Y. Chen, P.C. de Jong, H.J. Oterdoom and C.S. Chang. (2006). Aceraceae. In Flora of China Vol. 11: 516–549.