สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กูดต้น

กูดต้น  สกุล
วันที่ 1 กรกฎาคม 2559

Cyathea Sm.

Blechnaceae

เฟินขึ้นบนพื้นดินขนาดใหญ่ มีลำต้น ใบประกอบ 1–3 ชั้น เวียนหนาแน่นช่วงยอด ใบไม่สร้างสปอร์และใบสร้างสปอร์คล้ายกัน ก้านใบสีน้ำตาลหรือดำ ส่วนมากมีเกล็ดและขน เส้นใบแตกเป็นง่าม ส่วนมากไม่เรียงจรดกัน กลุ่มอับสปอร์ติดบนเส้นใบด้านล่าง รูปกลม มีเยื่อคลุมรูปถ้วยบาง ๆ หรือไม่มี เซลล์ผนังหนา เบี้ยว สปอร์รูปพีระมิด

สกุล Cyathea Sm. เป็นสกุลเฟินต้น มีกว่า 500 ชนิด พบทั่วไปในเขตร้อน ในไทยมี 8 ชนิด ส่วนใหญ่พบทางภาคใต้ ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “kyatheion” ถ้วยเล็ก ๆ ตามลักษณะของกลุ่มอับสปอร์


กูดต้น
วันที่ 1 กรกฎาคม 2559

Cyathea latebrosa (Wall. ex Hook.) Copel.

Blechnaceae

เฟินขึ้นบนดิน ลำต้นตั้งตรง สูง 2–6 ม. โคนต้นมีรากสานกันแน่น ยอดมีเกล็ดสีน้ำตาลคล้ำ ใบประกอบ 2 ชั้น แผ่นใบกว้าง 50–150 ซม. ยาว 100–250 ซม. ก้านใบยาว 30–40 ซม. มีหนามสั้น ๆ โคนมีเกล็ดรูปแถบ ยาวประมาณ 2 ซม. ใบประกอบย่อยมี 15–25 คู่ กว้าง 15–25 ซม. ยาว 30–70 ซม. คู่ล่างยาวไม่เกิน 10 ซม. ใบย่อยมี 20–30 คู่ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง 1.5–2 ซม. ยาว 7–10 ซม. ขอบจักเป็นพูลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ รูปแถบ ยาวประมาณ 1 ซม. เบี้ยว ขอบจักซี่ฟัน ไร้ก้าน เส้นกลางใบและเส้นกลางพูด้านบนมีขน ด้านล่างเกลี้ยง มีเกล็ดสีน้ำตาล กลุ่มอับสปอร์กลม เรียงเป็นแถวสองข้างของเส้นกลางพู ขอบจัก

พบที่ไห่หนาน กัมพูชา คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และบอร์เนียว ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าพรุ ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร

ชื่อพ้อง  Alsophila latebrosa Wall. ex Hook.

ชื่ออื่น   กลาคีรี (มาเลย์-นราธิวาส); กูดต้น (ภาคเหนือ); กูดพร้าว (เชียงใหม่); มหาสดำ (ภาคตะวันออกเฉียงใต้)

กูดต้น: ใบประกอบ 2 ชั้น ใบย่อยจักเป็นพูลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ ยอดมีเกล็ดสีน้ำตาลคล้ำ กลุ่มอับสปอร์เรียงเป็นแถวสองข้างของเส้นกลางพู (ภาพ: ผาทิพย์ ช่วยเนียม)

กูดต้นดอยอ่างขาง
วันที่ 1 กรกฎาคม 2559

Cyathea chinensis Copel.

Blechnaceae

เฟินขึ้นบนดิน ลำต้นตั้งตรง สูงได้ถึง 5 ม. ใบประกอบ 3 ชั้น แผ่นใบกว้างได้ถึง 1 ม. ยาวได้ถึง 2 ม. ก้านใบยาว 45–50 ซม. มีหนามเล็กน้อยหรือไม่มี โคนมีเกล็ดรูปแถบ ยาวประมาณ 3.5 ซม. ใบประกอบย่อยมีประมาณ 15 คู่ ใบใหญ่สุดกว้างประมาณ 13 ซม. ยาวประมาณ 50 ซม. ใบย่อยมีมากกว่า 30 คู่ รูปใบหอก กว้าง 1–2 ซม. ยาว 6–10 ซม. ไร้ก้าน แฉกลึกประมาณสองในสามส่วน รูปเคียว ยาวประมาณ 7 มม. ขอบจักฟันเลื่อย เส้นกลางใบและเส้นกลางพูด้านล่างมีขนและเกล็ดประปราย กลุ่มอับสปอร์เรียงเป็นแถวสองข้างของเส้นกลางพู

พบที่อินเดีย บังกลาเทศ ภูฏาน จีนตอนใต้ พม่า ลาว และเวียดนาม ในไทยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เพชรบูรณ์ ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร

ชื่อพ้อง  Alsophila costularis Baker

กูดต้นดอยอ่างขาง: ใบประกอบ 3 ชั้น ใบประกอบย่อยและใบย่อยจำนวนมาก (ภาพ: ธรรมรัตน์ พุทธไทย)



เอกสารอ้างอิง

Lindsay, S. and D.J. Middleton. (2012 onwards). Ferns of Thailand, Laos and Cambodia. http://rbg-web2.rbge.org.uk/thaiferns/

Tagawa, M. and K. Iwatsuki. (1979). Cyatheaceae. In Flora of Thailand 3(1): 101–107.

Xianchun, Z. and H. Nishida. (2013). Cyatheaceae (Alsophila). In Flora of China Vol. 2–3: 134–136.