สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กีบม้า

กีบม้า
วันที่ 29 พฤษภาคม 2560

Angiopteris evecta (G.Forst.) Hoffm.

Marattiaceae

ดูที่ ว่านกีบแรด

กีบม้าลม  สกุล
วันที่ 1 กรกฎาคม 2559

Pyrrosia Mirb.

Polypodiaceae

เฟินอิงอาศัยหรือขึ้นบนหิน เหง้าสั้นหรือทอดนอน มีเกล็ดหนาแน่น มีขนกระจุกรูปดาวตามเหง้าหรือใบอ่อน ใบไม่สร้างสปอร์และใบสร้างสปอร์คล้ายกัน ต่างกันเฉพาะความกว้าง ส่วนมากเรียบ พบน้อยที่จักเป็นพูหรือรูปเงี่ยงลูกศร เส้นกลางใบชัดเจน กลุ่มอับเรณูรูปรีหรือกลม เกิดตามปลายเส้นแขนงใบ เรียงหนึ่งหรือหลายแถวในแต่ละข้างของเส้นกลางใบ อับสปอร์มีก้านหรือไร้ก้าน

สกุล Pyrrosia มีประมาณ 60 ชนิด พบในแอฟริกา มาดากัสการ์ เอเชียเขตร้อน รวมจีนตอนกลางและญี่ปุ่น จนถึงนิวซีแลนด์ ในไทยมี 17 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “pyrros” สีเปลวไฟตามลักษณะของเกล็ดที่เหง้า


กีบม้าลม
วันที่ 29 พฤษภาคม 2560

Angiopteris evecta (G.Forst.) Hoffm.

Marattiaceae

ดูที่ ว่านกีบแรด

กีบม้าลม
วันที่ 1 กรกฎาคม 2559

Pyrrosia piloselloides (L.) M.G.Price

Polypodiaceae

เฟินอิงอาศัย มีขนกระจุกรูปดาวสีน้ำตาลแดงหนาแน่นตามเหง้าและใบอ่อนทั้งสองด้าน เหง้าทอดยาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 มม. เกล็ดสีน้ำตาลเข้ม รูปโล่หรือรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 1 มม. ขอบจัก ขอบช่วงโคนมีขนครุย แผ่นใบหนา เรียงห่าง ๆ ใบไม่สร้างสปอร์รูปกลม รูปรี รูปไข่ หรือรูปใบหอก ยาว 1–7 ซม. ปลายมน แผ่นหนา เส้นแขนงใบไม่ชัดเจน ก้านใบยาว 2–8 มม. ใบสร้างสปอร์รูปขอบขนานถึงรูปแถบ ยาว 3–25 ซม. ปลายแหลม มน หรือกลม ก้านใบยาว 5–10 มม. กลุ่มอับสปอร์เรียงใกล้ขอบใบเป็นแถวยาว กว้างประมาณ 2 มม.

พบที่อินเดีย บังกลาเทศ จีนตอนใต้ พม่า ลาว กัมพูชา ภูมิภาคมาเลเซีย นิวกินีฟิลิปปินส์ ในไทยพบมากทางภาคใต้ ขึ้นตามต้นไม้ในป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงระดับต่ำ ๆ และชายป่าพรุ มีสรรพคุณแก้อาการคัน พิษงู ตะขาบ และแมงป่อง

ชื่ออื่น   กีบม้าลม (ภาคเหนือ); เกล็ดนาคราช (ภาคกลาง); มันเหี้ย (ชลบุรี); อีแปะ (ตราด)

กีบม้าลม: เฟินอิงอาศัย เหง้าทอดยาว แผ่นใบหนา ใบไม่สร้างสปอร์รูปร่างหลายแบบ ใบสร้างสปอร์รูปแถบ กลุ่มอับสปอร์เรียงใกล้ขอบใบเป็นแถวยาว (ภาพ: ผาทิพย์ ช่วยเนียม)