สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กาติด

กาติด  สกุล
วันที่ 30 พฤษภาคม 2559

Erycibe Roxb.

Convolvulaceae

ไม้เถาเนื้อแข็ง ไม้พุ่มรอเลื้อย หรือไม้ต้นขนาดเล็ก ใบเรียงเวียน ช่อดอกออกเป็นกลุ่มแน่น แบบช่อกระจะ หรือช่อแยกแขนง ใบประดับร่วงเร็ว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ยาวเท่า ๆ กัน แยกจรดโคน ติดทน ดอกรูปกงล้อ มีกลิ่นหอม มี 5 กลีบ แฉกลึก กลีบแยก 2 พู ด้านนอกมีแถบขน เกสรเพศผู้ 5 อัน อยู่ภายในหลอดกลีบดอก โคนอับเรณูรูปหัวใจ เรณูไม่มีหนาม รังไข่ 1 หรือ 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 4 เม็ด ไร้ก้านเกสรเพศเมีย ยอดเกสรมีริ้ว 5 หรือ 10 อัน หรือบิดเป็นเกลียว ผลสดผนังหนา ส่วนมากมีเมล็ดเดียว

สกุล Erycibe มีประมาณ 75 ชนิด ส่วนมากพบในเอเชียเขตร้อน ในไทยมีประมาณ 10 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “erusibe” เชื้อราเป็นวง หมายถึงเป็นวงขาวตามลักษณะดอกหรือสิ่งปกคลุมเป็นวง ๆ


กาติด
วันที่ 30 พฤษภาคม 2559

Erycibe citriniflora Griff.

Convolvulaceae

ไม้เถาเนื้อแข็งหรือไม้พุ่มรอเลื้อย สูง 5–8 ม. กิ่งอ่อนมีขนรูปดาว ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ ยาว 8–30 ซม. ปลายแหลมยาว แผ่นใบบาง ก้านใบยาว 0.7–1.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ มีได้ถึง 20 ดอก ก้านดอกยาว 1.5–3 มม. กลีบเลี้ยงมีขนกระจุกรูปดาวสีน้ำตาลแดงด้านนอก กลีบคู่นอกกลม กลีบใน 3 กลีบรูปไข่กว้าง ยาว 2.5–3.5 มม. ดอกสีเหลืองครีม หลอดกลีบดอกยาว 2.5–4 มม. มีแถบขนสีน้ำตาลแดงด้านนอก กลีบยาว 0.7–1 ซม. ปลายจักเป็นพูตื้น อับเรณูยาว 1.7–2 มม. ปลายยื่นพ้นหลอดกลีบดอก รังไข่รูปทรงกระบอก ยาว 1–1.5 มม. ยอดเกสรเพศเมียมีริ้ว 10 อัน ผลรูปรี ยาวประมาณ 2 ซม. ผลแก่สีแดงอมส้ม

พบที่พม่า และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่อุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 500 เมตร

ชื่ออื่น   กากีด (มาเลย์-กระบี่); กาติด (กระบี่); ช้างสารสับมัน (อุทัยธานี); พลิ้ว (จันทบุรี)

กาติด: ไม้พุ่มรอเลื้อย ช่อดอกแบบช่อกระจุก ดอกหนาแน่น ดอกสีเหลืองครีม ปลายกลีบดอกจักเป็นพูตื้น กลีบเลี้ยงติดทน ผลแก่สีอมส้ม (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)

กาติดขาว
วันที่ 30 พฤษภาคม 2559

Erycibe albida Prain

Convolvulaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง 3–10 ม. กิ่งมีริ้วและขนแข็งเอน ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 14–30 ซม. ปลายแหลมยาว มีติ่งสั้น ๆ ก้านใบยาว 0.5–2 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกตามซอกใบ มีได้ถึง 10 ดอก ก้านดอกสั้น เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–2 ซม. กลีบเลี้ยงเกือบเกลี้ยง ขอบมีขนครุย กลีบคู่นอกรูปกลม 3 กลีบด้านในรูปไข่ ยาว 2.2–3.5 มม. ดอกสีขาว หลอดกลีบดอกยาว 2–5 มม. มีแถบขนสีน้ำตาลด้านนอก ปลายกลีบแยก 2 พู กลีบยาวกว่าพู อับเรณูยาวประมาณ 1.5 มม. ปลายยื่นพ้นหลอดกลีบดอกเล็กน้อย รังไข่รูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 2 มม. ยอดเกสรเพศเมียมีริ้ว 5 อัน ผลรูปรี ยาวประมาณ 1.5 ซม. ผิวมีตุ่มกระจาย

พบที่คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และภาคใต้ของไทย ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1100 เมตร

กาติดขาว: ช่อดอกแบบช่อกระจุกตามซอกใบ ดอกสีขาว กลีบดอกด้านนอกมีแถบขนสีน้ำตาล ปลายกลีบแยก 2 พู (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)