สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กะเพรา

กะเพรา
วันที่ 30 พฤษภาคม 2559

Ocimum tenuiflorum L.

Lamiaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 1 ม. ลำต้นเป็นเหลี่ยม มีขนต่อม ขนยาว หรือขนสั้นนุ่มตามลำต้น แผ่นใบ ช่อดอก ใบประดับ ก้านดอก และกลีบเลี้ยง ใบเรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 0.5–4.5 ซม. ก้านใบยาว 0.5–1.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกรอบแกนช่อห่าง ๆ คล้ายช่อเชิงลด ยาวได้ถึง 10 ซม. ใบประดับรูปไข่ ยาว 2–3 มม. ก้านดอกขยายในผล ยาว 2.5–4 มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกรูปปากเปิด หลอดกลีบเลี้ยงยาว 1–1.5 มม. ขยายในผล ยาว 3–4 มม. กลีบบนกลม กลีบล่างรูปใบหอก ดอกสีม่วงหรือขาว หลอดกลีบดอกยาว 2–3 มม. กลีบบน 4 กลีบ กลีบล่าง 1 กลีบ ขนาดใหญ่กว่ากลีบบน เกสรเพศผู้สั้น 2 อัน ยาว 2 อัน ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก โคนมีขนเป็นกระจุก รังไข่มี 4 พู ผลกลม เมล็ดรูปไข่
br>พบทั่วไปในเอเชียเขตร้อน เป็นวัชพืชและปลูกเป็นผักสวนครัว มีสรรพคุณร้อน ชาวฮินดูถือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งอาจหมายถึงกะเพราชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่น กะเพราช้างหรือยี่หร่า O. gratissimum L. โหระพา O. basilicum L. และกะเพราแขก O. kilimandscharicum Baker ex Gürke

สกุล Ocimum L. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Nepetoideae มีประมาณ 65 ชนิด ส่วนใหญ่พบในแอฟริกาและอเมริกาใต้ ไทยเป็นพืชพื้นเมืองเพียงชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “okimon” ที่ใช้เรียกพืชที่มีกลิ่นหอมเช่นใบโหระพา

ชื่อสามัญ  Holy basil

ชื่ออื่น   กอมก้อ, กอมก้อดง (เชียงใหม่); กะเพรา, กะเพราขน, กะเพราขาว, กะเพราแดง (ภาคกลาง); ห่อกวอซู, ห่อตูปลู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); อิ่มคิมหลำ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน); อีตู่ไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

กะเพรา: ช่อดอกกระจุกรอบแกน กลีบเลี้ยงและกลีบดอกรูปปากเปิด กลีบดอกกลีบบน 4 กลีบ กลีบล่าง 1 กลีบ รังไข่มี 4 พู (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

กะเพราแดง
วันที่ 30 พฤษภาคม 2559

Ocimum tenuiflorum L.

Lamiaceae

ดูที่ กะเพรา

กะเพราขน
วันที่ 30 พฤษภาคม 2559

Ocimum tenuiflorum L.

Lamiaceae

ดูที่ กะเพรา

กะเพราขาว
วันที่ 30 พฤษภาคม 2559

Ocimum tenuiflorum L.

Lamiaceae

ดูที่ กะเพรา

กะเพราตะนาวศรี
วันที่ 30 พฤษภาคม 2559

Teucrium scabrum Suddee & A.J.Paton

Lamiaceae

ไม้ล้มลุก สูง 15–60 ซม. มีขนต่อมประปรายทั่วไป ใบบางครั้งเรียงรอบข้อ 3 ใบ รูปรีหรือรูปไข่ ยาว 2–6 ซม. ก้านใบยาวได้ถึง 1.5 ซม. ช่อดอกยาว 5–30 ซม. ดอกติดเป็นกระจุกละ 2 ดอก เป็นชั้นห่าง ๆ บนแกนช่อ ใบประดับรูปไข่ ยาวประมาณ 1.2 ซม. ก้านดอกยาว 3–5 มม. กลีบเลี้ยงยาว 4–5 มม. เส้นกลีบ 10 เส้น กลีบบนรูปไข่ กลีบล่าง 4 กลีบ ยาวกว่ากลีบบนเล็กน้อย ดอกสีม่วงอ่อน กลีบรูปปากเปิด ยาว 0.8–1.2 ซม. กลีบบนขอบขนานกว้าง ปลายจรดกัน กลีบปากล่างกลีบข้างรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก กลีบกลางรูปไข่กลับ ยื่นแผ่ออก เกสรเพศผู้ยื่นเลยพ้นกลีบดอก รังไข่จักเป็นพูตื้น ก้านเกสรเพศเมียยาวเท่า ๆ เกสรเพศผู้ ผลแห้งเมล็ดล่อน รูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 มม. มีต่อมประปราย

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือที่ตาก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี ขึ้นบนเขาหินปูนที่เปิดโล่ง ความสูง 500–1000 เมตร

สกุล Teucrium L. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Ajugoideae มีประมาณ 250 ชนิด ส่วนใหญ่พบในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ในไทยมี 2 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “teukrion” อาจมาจาก Teukros ผู้ตั้งเมือง Salamis ในไซปรัส

กะเพราตะนาวศรี: ดอกเรียงเป็นกระจุกละ 2 ดอก เป็นชั้นห่าง ๆ บนแกนช่อ มีขนต่อมทั่วไป กลีบบนปลายจรดกัน กลีบกลางรูปไข่กลับ ยื่นแผ่ออก (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

กะเพราหินปูน
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Plectranthus albicalyx Suddee

Lamiaceae

ดูที่ หูเสือหินปูน



เอกสารอ้างอิง

Suddee, S., A.J. Paton and J. Parnell. (2005). A taxonomic revision of tribe Ocimeae Dumort. (Lamiaceae) in continental South East Asia III. Ociminae. Kew Bulletin 60: 26–27.