สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กล้วยหนู

กล้วยหนู
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Cyrtandra cupulata Ridl.

Gesneriaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 2 ม. มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่นตามกิ่ง ก้านใบและเส้นแขนงใบด้านล่าง ใบเรียงตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 13–46 ซม. ปลายแหลมยาว โคนสอบเรียว ขอบจักฟันเลื่อย ก้านใบยาว 1–2 ซม. ช่อดอกสั้น มีได้ถึง 10 ดอก ก้านดอกสั้น ใบประดับสีเขียวอมขาว ยาวได้ถึง 6 ซม. เชื่อมติดกันคล้ายรูปถ้วย ขอบจักฟันเลื่อย มีขนประปราย ใบประดับย่อยยาวประมาณ 4 ซม. หลอดกลีบเลี้ยงยาว 1–1.5 ซม. แยกเป็น 2 แฉก รูปสามเหลี่ยมปลายกลม ดอกสีขาวด้านในมีปื้นสีน้ำตาลแดง ยาว 3–4.5 ซม. กลีบกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8 มม. 3 กลีบล่างขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย ก้านชูอับเรณูยาว 0.6–1 ซม. อันที่เป็นหมันยาว 1–5 มม. เกสรเพศเมียยาวได้ถึง 2.5 ซม. รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียมีขน ผลรูปทรงกระบอก ปลายแหลม ยาว 1–2.5 ซม. ผลแก่มีสะเก็ดสีน้ำตาล (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ กล้วยกระแต, สกุล)

พบที่คาบสมุทรมลายู และภาคใต้ตอนล่างของไทยที่นราธิวาส และยะลา ขึ้นตามริมลำธาร ในป่าดิบชื้น ความสูง 50–200 เมตร

ชื่ออื่น   ตามดงถ้วย (ทั่วไป); ตะโปเล๊ะไมน์ (มาเลย์-ปัตตานี)

กล้วยหนู: ใบประดับสีเขียวอมขาว เชื่อมติดกันคล้ายรูปถ้วย ขอบจักฟันเลื่อย กลีบดอกสีขาวด้านในมีปื้นสีน้ำตาลแดง ผลรูปทรงกระบอก ปลายแหลม (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)



เอกสารอ้างอิง

Bramley, G.L.C., A. Weber and Q.C.B. Cronk. (2004). The genus Cyrtandra (Gesneriaceae) in Peninsular Malaysia and Singapore. Edinburgh Journal of Botany 60(3): 336–340.