สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กล้วยฤๅษี

กล้วยฤๅษี
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Diospyros glandulosa Lace

Ebenaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน ก้านใบ ช่อดอก กลีบเลี้ยง และก้านดอก ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 8–14 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนสาก เส้นแขนงใบข้างละ 4–7 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 1 ซม. ช่อดอกเพศผู้เป็นช่อกระจุกสั้น ๆ ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยง 4–5 กลีบ แยกจรดโคน ยาว 4–6 มม. มีขนครุย ดอกรูปคนโท ยาว 6–8 มม. มี 4 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน เส้นกลางกลีบมีขน เกสรเพศผู้ 14–30 อัน เส้นกลางอับเรณูมีขนคล้ายไหม เป็นหมันในดอกเพศเมีย ดอกเพศเมียก้านดอกยาว 2–5 มม. รังไข่มี 8 ช่อง มีขนสั้นนุ่ม ผลรูปกลม ๆ เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5–4 ซม. สุกสีแดง มีขนคล้ายไหม กลีบเลี้ยงแฉกลึกจรดโคน ขอบเป็นคลื่น มีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน ไม่พับงอกลับ เอนโดสเปิร์มเรียบ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ มะเกลือ, สกุล)

พบที่อินเดีย พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบกระจายทั่วไปทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขึ้นตามชายป่าดิบเขา ความสูง 700–1700 เมตร นิยมใช้เป็นต้นตอในการทาบกิ่งมะพลับ D. kaki L.f.

ชื่ออื่น   กล้วยฤๅษี (ภาคเหนือ); จันป่า (เชียงใหม่); มะเขือเถื่อน (เลย); เหล่โก่มอ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); อาล่องยุ้ม (ละว้า-เชียงใหม่)

กล้วยฤๅษี: ดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุก มีขนสั้นนุ่ม ผลมีขนคล้ายไหม กลีบเลี้ยงแฉกลึกจรดโคน ขอบเป็นคลื่น ผลสุกสีแดง(มนตรี ธนรส, ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Phengklai, C. (1981). Ebenaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(4): 339.