สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กล้วยผา

กล้วยผา  สกุล
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Ensete Bruce ex Horan.

Musaceae

ไม้ล้มลุก ลำต้นเดี่ยวโคนกว้าง กาบโอบกันแน่นเป็นลำต้นเทียม ใบรูปขอบขนาน โคนเรียวแคบเป็นก้านใบ ช่อดอกคล้ายช่อกุหลาบซ้อน ออกที่ปลายยอดห้อยลง ใบประดับเรียงซ้อนเหลื่อม ติดทน ดอกเรียง 2 แถว ในแต่ละกาบ ดอกเพศเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศออกช่วงโคน ดอกเพศผู้อยู่ช่วงปลาย กลีบรวมที่เชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปแถบ ปลายส่วนมากแยก 3 แฉก ไม่มีจักระหว่างกลีบ กลีบรวมที่แยกกันติดบนกลีบรวมตรงข้ามกัน กว้างและสั้นกว่ากลีบรวมที่เชื่อมติดกัน ปลายแยก 3 แฉก ผลค่อนข้างใหญ่ เมล็ดจำนวนมาก

สกุล Ensete ปัจจุบันได้รวมเอาสกุล Musella ที่มีชนิดเดียว ทำให้สกุลกล้วยผามี 10–11 ชนิด ส่วนมากพบในแอฟริกา ในไทยมี 2 ชนิด และเป็นไม้ประดับ 1 ชนิด คือ กล้วยคุนหมิง) E. lasiocarpum (Franch.) Cheesman ชื่อสกุลเป็นภาษาเอธิโอเปียที่ใช้เรียกพืชในสกุลนี้


กล้วยผา
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Ensete superbum (Roxb.) Cheesman

Musaceae

ไม้ล้มลุก ลำต้นเดี่ยว สูงได้ถึง 4 ม. ลำต้นเทียมโคนขยายใหญ่คล้ายเป็นหัว กาบมีนวล ใบกว้าง 60–90 ซม. ยาว 1–3 ม. ปลายแหลม ก้านใบยาวได้ถึง 50 ซม. เป็นร่องกว้าง ก้านและเส้นกลางใบบางครั้งมีสีแดง ดอกตั้งขึ้น ปลายโค้งลง ใบประดับสีน้ำตาลอมแดงหรือม่วง รูปไข่กลับกว้างเกือบกลม แต่ละใบประดับมี 20–30 ดอก กลีบรวมที่เชื่อมติดกันสีครีม ยาวประมาณ 2.5 ซม. กลีบที่แยกกันสั้นกว่ากลีบที่เชื่อมติดกันประมาณ 5 เท่า บางใส ผลรูปทรงกระบอก ยาว 2–4 ซม. เป็นเหลี่ยม เมล็ดสีดำ เรียบ เส้นผ่านศูนย์กลาง 6–8 มม.

พบที่อินเดีย และพม่า ในไทยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นตามป่าเบญจพรรณ โดยเฉพาะตามหน้าผาเขาหินปูนเตี้ย ๆ ทำให้มีชื่อสามัญคือ rock banana หรือ cliff banana เมล็ดบดใช้รักษาโรคนิ่ว

กล้วยผา: กล้วยลำต้นเดี่ยว ขึ้นตามหน้าผา บางครั้งก้านและเส้นกลางใบมีสีแดง ใบประดับสีม่วงหรือน้ำตาลอมแดง ดอกเรียง 2 แถว (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Wu, D. and W.J. Kress. (2000). Musaceae. In Flora of China Vol. 24: 314.