สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กล้วย

กล้วย  สกุล
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Musa L.

Musaceae

ไม้ล้มลุกอายุหลายปีหรือออกผลครั้งเดียว (monocarpic) เจริญด้านข้างจากเหง้า ลำต้นเทียมประกอบด้วยกาบใบ ใบขนาดใหญ่ ก้านใบยาว ช่อดอกหรือปลีกล้วยออกที่ยอดตั้งขึ้นหรือห้อยลง ใบประดับหลากสี ช่วงโคนเป็นดอกเพศเมียที่เกสรเพศผู้เป็นหมันหรือดอกสมบูรณ์เพศ ช่วงปลายเป็นดอกเพศผู้ที่เกสรเพศเมียเป็นหมัน ดอกส่วนมากเรียง 1–2 แถว กลีบรวมไม่สมมาตร เรียง 2 วง ๆ ละ 3 กลีบ วงใน 1 กลีบแยกออก 2 กลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด แยกจรดโคนด้านเดียว ปลายจักตื้น ๆ 5 จัก เกสรเพศผู้ 5 อัน รังไข่ใต้วงกลีบ มี 3 ช่อง ออวุลจำนวนมาก ติดแบบคว่ำ พลาเซนตารอบแกน ผลสดมีหลายเมล็ด เมล็ดแข็ง

สกุล Musa เป็นหนึ่งในสองสกุลของวงศ์ อีกสกุลคือ Ensete ส่วนสกุล Musella ถูกยุบให้อยู่ภายใต้สกุล Ensete สกุล Musa มีประมาณ 30 ชนิด ส่วนมากพบในเอเชียเขตร้อน ในไทยมีพืชพื้นเมืองประมาณ 10 ชนิด ส่วนกล้วยที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ ส่วนมากเกิดจากการผสมระหว่างสายพันธุ์หรือผสมข้ามระหว่างกล้วยป่า M. acuminata Colla กับกล้วยตานี M. balbisiana Colla กล้วยเหล่านี้ได้แก่ กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยเล็บมือนาง กล้วยหก กล้วยหอม และกล้วยหักมุก เป็นต้น ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “mauz” ซึ่งแปลว่ากล้วยในภาษาอาหรับ


กล้วยแค่
วันที่ 31 มีนาคม 2559 แก้ไข 29 เมษายน 2559

Musa rubra Wall. ex Kurz

Musaceae

ดูที่ กล้วยบัว

กล้วยแวก
วันที่ 31 มีนาคม 2559 แก้ไข 29 เมษายน 2559

Musa rubra Wall. ex Kurz

Musaceae

ดูที่ กล้วยบัว

กล้วยโทน
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Ensete glaucum (Roxb.) Cheesman

Musaceae

ดูที่ กล้วยนวล

กล้วยบัว
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Musa ornata Roxb.

Musaceae

ดูที่ กล้วยบัวสีชมพู

กล้วยบัว
วันที่ 31 มีนาคม 2559 แก้ไข 29 เมษายน 2559

Musa rubra Wall. ex Kurz

Musaceae

ไม้ล้มลุก แตกหน่อไกลจากต้นแม่ ลำต้นเทียมสูง 1–2.5 ม. ใบกว้างได้ถึง 40 ซม. ยาวได้ถึง 1.5 ม. เส้นกลางใบเป็นร่องลึก มีสีแดง ก้านใบยาว 40–50 ซม. ช่อดอกตั้งขึ้น ก้านช่อมีขนละเอียด ใบประดับสีส้มอมแดง ยาว 20–30 ซม. ในช่อดอกเพศเมียมีประมาณ 4 ใบ แต่ละใบประดับมี 4–6 ดอก ดอกยาว 7–8 ซม. กลีบรวมที่ติดกันยาวเท่า ๆ รังไข่ กลีบรวมที่แยกกันสั้น ใบประดับช่อดอกเพศผู้แต่ละใบมี 6–10 ดอก กลีบรวมที่เชื่อมติดกันยาว 3–4 ซม. พับงอ กลีบรวมที่แยกกันรูปเรือ บางใส ยาวประมาณ 1 ซม. ยอดเกสรเพศเมียคล้ายกระบอง ยาวประมาณ 3 มม. จัก 3 พูตื้น ๆ ผลย่อยรูปทรงกระบอกเป็นเหลี่ยม ยาว 8–10 ซม. เมล็ดสีดำด้าน เรียบ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ กล้วย, สกุล)

พบที่อินเดีย พม่า และภาคเหนือของไทย ขึ้นตามชายป่าเบญจพรรณ ที่โล่ง ความสูง 300–700 เมตร อนึ่ง กล้วยบัวชนิดนี้มีชื่อในตลาดต้นไม้ M. ornata ‘Bronze’ หรือ M. ornata ‘Red Salmon’ และเคยเข้าใจว่ากลายพันธุ์มาจากกล้วยบัวสีชมพู M. ornata Roxb. ซึ่งมีลำต้นชิดกัน เหง้าสั้นกว่า ก้านช่อดอกไม่มีขน และใบประดับมีสีชมพู

ชื่อพ้อง  Musa laterita Cheesman

หมายเหตุ  ในหนังสือสารานุกรมพืช (ฉบับย่อ) ใช้ชื่อ Musa laterita Cheesman ซึ่งปัจจุบันเป็นชื่อพ้อง (คำระบุชนิดหมายถึงใบประดับสีคล้ายดินลูกรัง) ขอขอบคุณข้อมูลจาก ดร.ศศิวิมล แสวงผล มหาวิทยาลัยมหิดล

ชื่ออื่น   กล้วยแค่ (ภาคเหนือ); กล้วยบัว, กล้วยบัวสีส้ม (กรุงเทพฯ); กล้วยแวก (แม่ฮ่องสอน); ยะมอง, ยะโม (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

กล้วยบัว: ช่อดอกตั้งขึ้น ใบประดับสีส้มอมแดง ในดอกเพศเมียแต่ละใบประดับมี 4–6 ดอก กลีบรวมเชื่อมติดกันเป็นหลอด ผลเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

กล้วยบัวสีชมพู
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Musa ornata Roxb.

Musaceae

ไม้ล้มลุก แตกกอชิดกัน สูง 1–3 ม. ใบยาวได้ถึง 2 ม. โคนด้านหนึ่งมน อีกด้านเรียวแหลม แผ่นใบมีนวลเล็กน้อย เส้นกลางใบมักสีแดง ก้านใบยาวได้ถึง 60 ซม. ช่อดอกตั้งตรง ก้านช่อยาว 2–3 ซม. เกลี้ยง ใบประดับสีชมพู ของดอกเพศเมียอยู่ช่วงล่าง มีประมาณ 7 ใบ แต่ละใบประดับมี 3–6 ดอก เรียงแถวเดียว กลีบรวมที่ติดกันยาวประมาณ 3.5 ซม. กลีบที่แยกกันสั้นกว่าเล็กน้อย ปลายจัก 5 พู ตื้น ๆ พับงอ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันยาว 1–2 ซม. ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 3 ซม. ในดอกเพศผู้กลีบรวมที่ติดกันยาว 3.5–4 ซม. กลีบที่แยกกันยาว 3–3.5 ซม. ผลเรียงชิดกันคล้ายนิ้วมือ ผลย่อยเป็นเหลี่ยม ยาว 6–8 ซม. เมล็ดสีดำ แบน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ กล้วย, สกุล)

มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย พม่า และบังกลาเทศ เป็นไม้ประดับทั่วไป ซึ่งพบปลูกเป็นไม้ประดับก่อนที่จะมีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ในปี ค.ศ. 1824 ทำให้มีการใช้ชื่อวิทยาศาสตร์หลายชื่อมาก่อน เช่น M. rosacea Jacq., M. speciosa Ten., M. carolinae A. Sterler และ M. rosea Baker นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ผสมหลากหลายสายพันธุ์ ใบประดับหลากสี

กล้วยบัวสีชมพู: โคนใบด้านหนึ่งมน ด้านหนึ่งเรียวแหลม ช่อดอกตั้งขึ้น ใบประดับสีชมพูอมม่วง ๆ ดอกเรียงแถวเดียว ผลเรียงชิดกันคล้ายนิ้วมือ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

กล้วยบัวสีส้ม
วันที่ 31 มีนาคม 2559 แก้ไข 29 เมษายน 2559

Musa rubra Wall. ex Kurz

Musaceae

ดูที่ กล้วยบัว

กล้วยป่า
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Musa gracilis Holttum

Musaceae

ดูที่ กล้วยม่วง

กล้วยม่วง
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Musa gracilis Holttum

Musaceae

ไม้ล้มลุกแตกหน่อ สูง 0.5–2 ม. ลำต้นเทียมเส้นผ่านศูนย์กลาง 8–10 ซม. มีปื้นสีม่วงทั่วไป ใบกว้าง 25–35 ซม. ยาว 90–150 ซม. ก้านใบยาว 30–70 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีนวล เส้นกลางใบเป็นร่อง ช่อดอกตั้งตรง ยาวได้ถึง 1 ม. มีขนหนาแน่น ใบประดับรูปขอบขนาน สีม่วงอมชมพู ยาวได้ถึง 15 ซม. ดอกเพศเมียเรียงเป็นกระจุก 3–8 แถว แถวละ 2–4 ดอก กลีบรวมที่เชื่อมติดกันแยกจรดโคนด้านหนึ่ง ปลายจักเป็น 5 แฉก ตื้น ๆ ผลตรง ยาวได้ถึง 10 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 2–2.5 ซม. มี 3–4 เหลี่ยม ก้านผลยาว 1–2 ซม. ผลอ่อนมีขนกระจาย เมล็ดกลมหรือรี แบน ๆ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ กล้วย, สกุล)

พบที่คาบสมุทรมลายู และภาคใต้ตอนล่างของไทยที่ยะลา และนราธิวาส ขึ้นริมลำธารในป่าดิบชื้น ความสูง 50–300 เมตร

ชื่ออื่น   กล้วยป่า (ทั่วไป); ปิซังกะแต, ปิซังเวก, ปิซังโอนิก (มาเลย์-ภาคใต้)

กล้วยม่วง: ถิ่นที่อยู่ริมลำธารในป่าดิบชื้น ช่อดอกตั้งขึ้นยาวได้ถึง 1 เมตร ใบประดับสีม่วงอมชมพู ดอกย่อยเรียงเป็นแถว (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์, ราชันย์ ภู่มา)

กล้วยยูนนาน
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Ensete lasiocarpum (Franch.) Cheesman

Musaceae

ดูที่ กล้วยคุนหมิง

กล้วยศาสนา
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Ensete glaucum (Roxb.) Cheesman

Musaceae

ดูที่ กล้วยนวล

กล้วยหัวโต
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Ensete glaucum (Roxb.) Cheesman

Musaceae

ดูที่ กล้วยนวล



เอกสารอ้างอิง

ราชบัณฑิตยสถาน. (2547). อนุกรมวิธานพืชอักษร ก. พิมพ์ครั้งที่ 2. ราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ.

Cheesman, E.E. (1949). The classification of the bananas. Kew Bulletin 1949: 265–267.

Cheesman, E.E.Cheesman, E.E. (1950). Classification of the Bananas. Kew Bulletin 5: 154.

Joe, A., P.E. Sreejith and M. Sabu. (2016). Notes on Musa rubra Kurz (Musaceae) and reduction of M. laterita Cheesman as conspecific.

Liu, A.Z., W.J. Kress and D.Z. Li. (2010). Phylogenetic analyses of the banana family (Musaceae) based on nuclear ribosomal (ITS) and chloroplast (trnL-F) evidence. Taxon 59(1): 20–28.

Staples, G.W. and D.R. Herbst. (2005). A tropical garden flora. Bishop Museum Press, Honolulu, Hawai`i.

Wu, D. and W.J. Kress. (2000). Musaceae. In Flora of China Vol. 24: 314–315.