สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กระเจี๊ยบมอญ

กระเจี๊ยบมอญ  สกุล
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559

Abelmoschus Medik.

Malvaceae

ไม้ล้มลุก ใบเรียงเวียน ขอบเรียบหรือจักเป็นพู ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ ริ้วประดับมี 5–15 อัน ติดทน กลีบเลี้ยงรูปใบพายแยกด้านเดียว ปลายแยกเป็นแฉกขนาดเล็ก 5 แฉก ร่วงพร้อมกลีบดอก กลีบดอก 5 กลีบ มีสีเข้มตรงกลาง เส้าเกสรสั้นกว่ากลีบดอก เกสรเพศผู้จำนวนมาก รังไข่มี 5 ช่อง ออวุลจำนวนมาก เกสรเพศเมียไร้ก้าน ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 5 ตุ่ม ผลแห้งแตกตามยาว เมล็ดจำนวนมาก ผิวเรียบ

สกุล Abelmoschus อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Malvoideae คล้ายกับสกุล Hibiscus แต่กลีบเลี้ยงรูปใบพายแยกจรดโคนด้านเดียว มีประมาณ 15 ชนิด ส่วนมากพบในเอเชียเขตร้อน ในไทยมีพืชพื้นเมือง 2 ชนิด ไม้ต่างถิ่น 3 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษาอาหรับ “abul-l-mosk” หมายถึงแหล่งของน้ำหอมกลิ่นชะมดที่ได้จากเมล็ด


กระเจี๊ยบมอญ
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559

Abelmoschus esculentus (L.) Moench

Malvaceae

ไม้ล้มลุก ส่วนมากมีขนคล้ายหนามกระจาย ลำต้นกลวง หูใบรูปเส้นด้าย ใบรูปฝ่ามือ มี 3–7 พู เส้นผ่านศูนย์กลาง 5–30 ซม. ขอบใบจักซี่ฟันห่าง ๆ ก้านใบยาว 7–30 ซม. ก้านดอกยาว 0.5–5 ซม. ริ้วประดับมี 7–12 อัน รูปแถบ ยาว 0.5–1.8 ซม. กลีบเลี้ยงยาว 2–3 ซม. มีขนสั้นละเอียดรูปดาวหนาแน่น ดอกสีเหลืองนวล ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 5–7 ซม. กลีบรูปไข่กลับ ยาว 3.5–5 ซม. เส้าเกสรยาว 2–2.5 ซม. ผลรูปทรงกระบอก ยาว 10–25 ซม. ปลายมีจะงอย เมล็ดสีน้ำตาลอมเทา ยาว 4–5 มม. มีปุ่มกระจาย

ถิ่นกำเนิดในอินเดีย ปลูกเป็นผักสวนครัวโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือขึ้นเป็นวัชพืช ฝักอ่อนรับประทานเป็นผัก มีสรรพคุณรักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้

ชื่อสามัญ  Lady’s finger, Okra

ชื่ออื่น   กระเจี๊ยบ, กระเจี๊ยบมอญ, มะเขือทะวาย, มะเขือมอญ (ภาคกลาง); มะเขือพม่า, มะเขือมื่น, มะเขือละโว้ (ภาคเหนือ)

กระเจี๊ยบมอญ: หูใบรูปเส้นด้าย ใบรูปฝ่ามือ กลีบดอกมีสีเข้มตรงกลาง ยอดเกสรเพศเมียมี 5 ตุ่ม ผลรูปทรงกระบอก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Malvaceae. In Flora of China Vol. 12: 283, 285.