สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กระเจี๊ยบ

กระเจี๊ยบ
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559

Hibiscus sabdariffa L.

Malvaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 2 ม. ลำต้นสีแดงอมม่วง มีขนยาวตามหูใบ ก้านใบ และริ้วประดับ หูใบรูปเส้นด้าย ใบที่โคนรูปไข่ ใบตามลำต้นและปลายกิ่งรูปฝ่ามือ มี 3–5 แฉก ยาว 2–8 ซม. ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบมีต่อมกระจายด้านล่าง ก้านใบยาว 2–8 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ ก้านดอกสั้น ริ้วประดับสีแดง มี 8–12 อัน รูปใบหอก ยาว 0.5–1.5 ซม. เชื่อมติดกันที่โคน ปลายมีรยางค์คล้ายหนาม กลีบเลี้ยงสีแดง รูปสามเหลี่ยม ยาว 1–2 ซม. ติดทน มีขนและหนามกระจาย ดอกสีเหลืองนวล โคนดอกด้านในสีแดง ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 6–7 ซม. เส้าเกสรยาวเท่า ๆ กลีบเลี้ยง ผลแห้งแตก มี 5 ซีก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 ซม. มีขนหยาบ เมล็ดรูปคล้ายไต (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ชบา, สกุล)

มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาตะวันตก ปลูกทั่วไปในเขตร้อน กลีบเลี้ยงตากแห้งทำเป็นเครื่องดื่มแก้กระหาย และควบคุมความดันโลหิต ทั้งต้นใช้ขับปัสสาวะ คลายกล้ามเนื้อ รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน และฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

ชื่อสามัญ  Jamaica sorrel, Roselle

ชื่ออื่น   กระเจี๊ยบแดง, กระเจี๊ยบเปรี้ยว, กระเจี๊ยบ (ภาคกลาง); ส้มเก็งเค็ง (ภาคเหนือ); ส้มตะเลงเครง (ตาก); ส้มปู (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)

กระเจี๊ยบ: ใบรูปฝ่ามือ โคนดอกด้านในสีแดง ริ้วประดับมี 8–12 อัน ติดทน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

กระเจี๊ยบแดง
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559

Hibiscus sabdariffa L.

Malvaceae

ดูที่ กระเจี๊ยบ

กระเจี๊ยบเปรี้ยว
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559

Hibiscus sabdariffa L.

Malvaceae

ดูที่ กระเจี๊ยบ

กระเจี๊ยบ
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Mucuna gigantea (Willd.) DC.

Fabaceae

ดูที่ หมามุ่ยช้าง

กระเจี๊ยบ
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559

Abelmoschus esculentus (L.) Moench

Malvaceae

ดูที่ กระเจี๊ยบมอญ



เอกสารอ้างอิง

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Malvaceae. In Flora of China Vol. 12: 293.