สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กระเจานา

กระเจานา
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559

Corchorus aestuans L.

Malvaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 1 ม. มีขนละเอียด หูใบ 3 อัน รูปเส้นด้ายยาวไม่เท่ากัน ใบเรียงเวียน รูปไข่ ยาว 3–8 ซม. ขอบจักซี่ฟัน คู่ล่างคล้ายรยางค์หรือเดือยสั้น ๆ แผ่นใบมีขนยาวทั้งสองด้าน เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น ก้านใบยาว 1–2.5 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นช่อกระจุกตามซอกใบหรือตรงข้ามใบ ใบประดับคล้ายหูใบ ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปคล้ายเรือ ยาว 3–5 มม. ปลายมีรยางค์สั้น ๆ กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่กลับ ยาวเท่า ๆ กลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้จำนวนมาก ยาวประมาณ 3 มม. รังไข่มีขน ก้านเกสรเพศเมียเป็นหลอด ยอดเกสรจัก 5 พู ผลแห้งแตก ยาว 1.5–3 ซม. มี 3–5 สัน จักเป็นพู ปลายพูแยก 2 แฉก เมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก

พบที่อเมริกา แอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย เป็นวัชพืชหรือปลูกเป็นพืชเส้นใย เปลือกใช้ทำเชือก ลำต้นใช้เลี้ยงสัตว์ แก้อักเสบในโรคปอดบวม

สกุล Corchorus L. เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Tiliaceae ปัจจุบันอยู่วงศ์ย่อย Grewioideae มีประมาณ 100 ชนิด ในไทยมี 4 ชนิด รวมถึงปอกระเจา C. capsularis L. ชื่อสกุลเป็นภาษาละตินหมายถึงเมล็ดพืชที่ขึ้นในป่า

ชื่อสามัญ  Jute

ชื่ออื่น   ขัดมอญตัวผู้ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); กระเจานา (ภาคกลาง)

กระเจานา: หูใบ 3 อัน รูปเส้นด้าย ยาวไม่เท่ากัน ช่อดอกออกตามซอกใบหรือตรงข้ามใบ ผลปลายจักเป็นพู ปลายพูแยก 2 แฉก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Phengklai, C. (1993). Tiliaceae. In Flora of Thailand Vol. 6(1): 30.

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Tiliaceae. In Flora of China Vol. 12: 529.