Index to botanical names
กระทุ่มนา
Rubiaceae
ไม้ต้น หูใบร่วงเร็ว ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกเป็นช่อกระจุกหรือช่อซี่ร่ม ใบประดับคล้ายใบ ดอกไร้ก้าน กลีบเลี้ยงจักไม่ชัดเจน หรือแยกเป็น 5 แฉก ติดทน ดอกรูปดอกเข็ม มี 5 กลีบ เรียงจรดกันในตาดอก เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดใกล้คอหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูติดที่ฐาน ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก รังไข่ 2 ช่อง ออวุลจำนวนมาก พลาเซนตารอบแกนร่วม ยอดเกสรเพศเมียยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ผลย่อยแห้งแตกตามยาว เมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก ปลายมีปีกทั้งสองข้างสกุล Mitragyna มี 7 ชนิด พบในเอเชียเขตร้อนและแอฟริกา ในไทยมี 5 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “mitra” หมวกของพระ และ “gyne” เพศเมีย หมายถึงลักษณะของยอดเกสรเพศเมียและรังไข่คล้ายหมวก
ไม้ต้น สูง 8–15 ม. หูใบรูปขอบขนาน ยาว 1–1.5 ซม. มีสันกลาง ใบรูปไข่หรือรูปรี ยาว 5–16 ซม. มีตุ่มใบเป็นขน เส้นแขนงใบเรียงจรดกัน ก้านใบยาว 1–2.5 ซม. ช่อดอกเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–2 ซม. มีขน ใบประดับย่อยรูปเส้นด้าย ยาว 2–3 มม. หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1.5 มม. ปลายจักตื้น ๆ หลอดกลีบดอกยาว 3–4 มม. กลีบรูปสามเหลี่ยม ยาว 2.5–3.5 มม. โคนด้านในมีขน ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูยาวประมาณ 2 มม. รังไข่เกลี้ยง ก้านและยอดเกสรเพศเมียยาว 6–7 มม. ช่อผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.3–1.8 ซม. ผลย่อยรูปไข่ ยาวประมาณ 5 มม. พบที่จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู ชวา และฟิลิปปินส์ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และทุ่งนา ความสูงถึงประมาณ 400 เมตร
ชื่อพ้อง Nauclea diversifolia Wall. ex G.Don
ชื่ออื่น กระท่อมขี้หมู, ตุ้มแซะ, ตุ้มน้อย, ตุ้มน้ำ (ภาคเหนือ); กระทุ่มดง (กาญจนบุรี); กระทุ่มนา, กระทุ่มน้ำ (ภาคกลาง); กาตูม (เขมร-ปราจีนบุรี); ตำ (ส่วย-สุรินทร์); ถ่มพาย (เลย); ท่อมขี้หมู (สงขลา); ท่อมนา (สุราษฎร์ธานี); โทมน้อย (เพชรบูรณ์)
กระทุ่มนา: ช่อกระจุกแน่นออกเป็นช่อซี่ร่ม เกสรเพศผู้และเพศเมียยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)