สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กระทุงบวบเหลี่ยม

กระทุงบวบเหลี่ยม
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Aristolochia baenzigeri B.Hansen & Phuph.

Aristolochiaceae

ไม้เถาเนื้อแข็ง เปลือกเป็นคอร์ก ลำต้นมีสันนูน ใบออกตามข้อ รูปหัวใจ ยาว 14–23.5 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนอุย เส้นโคนใบข้างละ 2 เส้น เส้นแขนงใบข้างละ 3–4 เส้น เส้นแขนงใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว 7.5–12.5 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ไม่มีหูใบเทียม ช่อดอกส่วนมากออกที่โคนต้น มี 2–3 ดอก ก้านช่อยาว 0.5–1.5 ซม. ก้านดอกยาว 1.5–2 ซม. เชื่อมติดรังไข่ที่ยาว 2.5–3 ซม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ดอกด้านนอกมีเส้นร่างแหสีชมพูอมแดง มีขนสั้นนุ่ม กลีบด้านในสีแดงสด โคนด้านในหลอดกลีบสีเหลืองอ่อน กระเปาะยาว 5.5–6 ซม. กว้าง 3 ซม. หลอดกลีบยาวประมาณ 2 ซม. ปลายแผ่ออกกว้าง จักเว้าตื้น ๆ 3 พู เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8 ซม. เส้าเกสรยาวประมาณ 7 มม. ยอดเกสรเพศเมียจัก 3 พู ผลรูปแถบ ยาวได้ถึง 34 ซม. มี 6 สัน สีน้ำตาลอมเทา เมล็ดไม่มีปีก ยาวประมาณ 1 ซม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ กระเช้าสีดา, สกุล)

พืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะทางภาคเหนือที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ความสูง 800–1000 เมตร ชื่อชนิดตั้งตาม Dr. Hans Bänziger ชาวสวิตเซอร์แลนด์ อาจารย์ประจำภาควิชากีฏวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กระทุงบวบเหลี่ยม: ลำต้นเปลือกเป็นคอร์ก ช่อดอกออกสั้น ๆ ที่โคนต้น ดอกด้านในสีแดงสด โคนหลอดกลีบสีเหลืองอ่อน ผลรูปแถบ มีสันนูน 6 สัน (ภาพ: Hans Bänziger)



เอกสารอ้างอิง

Hansen, B. and L. Phuphathanaphong. (1999). Two new species of Aristolochia (Aristolochiaceae) from Thailand. Nordic Journal Botany 19(5): 575–579.