สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กระทืบยอบ

กระทืบยอบ  สกุล
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Biophytum DC.

Oxalidaceae

ไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบประกอบปลายคู่ เรียงเวียนที่ปลายยอดหรือปลายกิ่ง ปลายมีรยางค์ คู่ปลายใหญ่กว่าคู่ล่าง ไวต่อการสัมผัส ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกที่ยอด กลีบดอกและกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบเลี้ยงติดทน กลีบดอกเชื่อมติดกันที่ปลายก้านกลีบ เกสรเพศผู้ 10 อัน เรียง 2 วง วงนอกก้านชูอับเรณูสั้น หนา รังไข่มี 5 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 3–6 เม็ด เรียงสลับเป็น 2 แถว เกสรเพศเมียมี 5 อัน ผลแห้งแตกกลางพู แตกจรดโคนเป็นรูปดาว 5 แฉก เมล็ดส่วนมากมีปุ่มเล็ก ๆ กระจาย

สกุล Biophytum มีประมาณ 50 ชนิด พบทั่วไปในเขตร้อน ในไทยมี 5 ชนิด ใน Flora of China ระบุว่า B. fruticosum Blume พบในไทยด้วย ซึ่งคล้ายกับ B. adiantoides Wight ex Edgew. & Hook.f. ที่ต้นแตกกิ่งและดอกสีขาว แต่จำนวนใบย่อยน้อยกว่า ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “bios” ชีวิต และ “phyton” พืช หมายถึงใบและผลไวต่อการสัมผัส หลายชนิดมีสรรพคุณด้านสมุนไพร


กระทืบยอบ
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Biophytum umbraculum Welw.

Oxalidaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 15 ซม. ใบประกอบมีใบย่อย 3–9 คู่ แกนกลางยาวได้ถึง 3.5 ซม. ใบย่อยรูปรี รูปไข่ หรือเกือบกลม เบี้ยว ยาว 2–8 มม. เส้นแขนงใบมีจำนวนไม่มาก เกือบตั้งฉากเส้นกลางใบ ไร้ก้าน ช่อดอกไร้ก้านหรือมีก้านยาวได้ถึง 3 ซม. ออกแน่นที่ยอด ก้านดอกยาว 1–3 มม. กลีบเลี้ยงรูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาว 3–5 มม. ติดทน ดอกสีเหลืองอมส้ม โคนด้านในสีเหลือง กลีบรูปใบหอก ยาว 0.6–1 ซม. ปลายกลม ผลรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 3–4 มม. แต่ละซีกมี 3–4 เมล็ด

พบที่แอฟริกา มาดากัสการ์ อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย นิวกินี และฟิลิปปินส์ ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง หรือชายป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร

ชื่อพ้อง  Biophytum petersianum Klotzsch

ชื่ออื่น   กระทืบยอบ (ทั่วไป); ทืบยอด (สุราษฎร์ธานี); นกเขาเง้า (นครราชสีมา); ห่อตูปลู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

กระทืบยอบ: ใบย่อยโคนเบี้ยว เส้นแขนงใบจำนวนไม่มาก ดอกแบบช่อซี่ร่มเป็นกระจุกสั้น ๆ หรือมีก้านช่อ ช่วงโคนกลีบดอกสีเข้ม (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

กระทืบยอบ
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Biophytum sensitivum (L.) DC.

Oxalidaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 35 ซม. ใบประกอบมีใบย่อย 7–14 คู่ แกนกลางยาว 5–16 ซม. ใบย่อยรูปไข่กลับแกมรูปเคียว ยาว 0.8–1.8 ซม. ปลายและโคนตัด เส้นแขนงใบจำนวนมาก เบี้ยว ก้านใบสั้นมาก ช่อดอกยาวได้ถึง 14 ซม. มีขนแข็งเอนและขนต่อมหนาแน่น ก้านดอกยาว 1.5–3.5 มม. กลีบเลี้ยงรูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาว 4–7 มม. ติดทน ยาวกว่าผลได้ถึง 2 เท่า ดอกสีเหลืองมักมีเส้นกลีบสีม่วง รูปใบหอก ยาว 5–7 มม. ปลายตัดหรืิอเว้าตื้น ผลรูปรี ยาว 3–4 มม. มีขนแข็งเอนและขนต่อมตามสัน แต่ละซีกมีประมาณ 3 เมล็ด

พบที่แอฟริกา อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามที่โล่ง ความสูงถึงประมาณ 500 เมตร

ชื่อพ้อง  Oxalis sensitiva L.

ชื่อสามัญ   Little tree plant, Sensitive plant

ชื่ออื่น   กระทืบยอบ, คันร่ม, เช้ายอบ, ไมยราบ (ภาคกลาง); จิยอบต้นตาล (ภาคเหนือ); หน่อปีเหมาะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); หัวใจไมยราบ (ภาคใต้)

กระทืบยอบ: ใบย่อยปลายและโคนตัด เส้นแขนงใบจำนวนมาก ช่อดอกมีขนหนาแน่น ผลแห้งแตกเป็น 5 ซีก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

กระทืบยอบ
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Biophytum adiantoides Wight ex Edgew. & Hook.f.

Oxalidaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 30 ซม. มักแตกกิ่งด้านข้าง ใบประกอบมีใบย่อย 18–27 คู่ แกนกลางใบประกอบยาว 9–22 ซม. ใบย่อยไร้ก้าน รูปรีหรือขอบขนาน เบี้ยว ยาว 0.9–2.2 ซม. แผ่นใบมีขนแข็งเอน ก้านช่อดอกยาว 5–19.5 ซม. มีขนกระจาย ใบประดับขนาดเล็ก เรียงหนาแน่น ก้านดอกยาว 0.5–1.7 ซม. กลีบเลี้ยงรูปใบหอก ยาว 4–6 มม. ดอกสีขาว โคนสีเหลือง กลีบรูปใบหอก ยาว 0.9–1 ซม. ผลรูปรี ยาว 3–4 มม. แต่ละซีกมี 2–3 เมล็ด

พบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายูตอนบน ในไทยพบทางภาคเหนือ และภาคใต้ ส่วนมากขึ้นริมลำธารในป่าเบญจพรรณที่มีหินปูน และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 350 เมตร

กระทืบยอบ: ลำต้นแตกกิ่ง ใบย่อยจำนวนมาก ดอกสีขาว โคนกลีบด้านในสีเหลือง ผลแห้งแตกกลางพู แตกจรดโคนเป็นรูปดาว 5 แฉก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Liu, Q. and M. Watson. (2008). Oxalidaceae. In Flora of China Vol. 11: 2.

Veldkamp, J.F. (1970). Oxalidaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(1): 16–23.