สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กระดึงช้างเผือก

กระดึงช้างเผือก
วันที่ 4 สิงหาคม 2559

Trichosanthes tricuspidata Lour.

Cucurbitaceae

ไม้เถา ยาวได้ถึง 20 ม. มือจับแยก 2–3 แขนง ใบประดับที่โคนช่อดอกรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 1 ซม. ใบรูปไข่กว้าง ยาว 7–15 ซม. จัก 3–5 พู แผ่นใบสากด้านบน ก้านใบยาว 3–7.5 ซม. ช่อดอกเพศผู้ยาว 7–16 ซม. ใบประดับรูปไข่กลับ ยาว 1.5–4 ซม. ชายครุยมีต่อมกระจาย ดอกเพศผู้ก้านดอกยาว 3–5 มม. ฐานดอกยาว 3–5 ซม. กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม ยาว 1–1.5 ซม เรียบ หรือจักตื้น ๆ ดอกสีขาว ยาวประมาณ 1.5 ซม. ชายครุยยาวได้ถึง 2 ซม. ดอกเพศเมียก้านดอกยาว 0.5–1 ซม. ผลรูปไข่กว้าง ยาว 6–7 ซม. เนื้อด้านในสีดำอมเขียว

พบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชายป่า เขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร ชนิดย่อย subsp. javanica Duyfjes & Pruesapan ใบประดับจักห่าง ๆ ขอบกลีบเลี้ยงเรียบ แยกเป็น var. flavofila W.J.de Wilde & Duyfjes ชายครุยสีเหลือง พบเฉพาะที่แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี รากและผลมีสรรพคุณเป็นยาระบาย และมีพิษต่อสัตว์เลี้ยง

ชื่อสามัญ  Red ball snake gourd

ชื่ออื่น   กระดึงช้างเผือก (ประจวบคีรีขันธ์); ขี้กา (ทั่วไป); ขี้กาขม (พังงา); ขี้กาแดง (ราชบุรี); ขี้กาลาย, มะตูมกา (นครราชสีมา)

ขี้กา: ใบจัก 3–5 พู ใบประดับขอบจักชายครุย มีต่อมกระจาย (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, ปรีชา การะเกตุ)