สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กง

กง  สกุล
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559

Hanguana Blume

Hanguanaceae

ไม้ล้มลุก มักแตกกอหรือมีไหลลอยน้ำได้ แยกเพศต่างต้น เส้นแขนงใบเรียงขนานกัน มีเส้นแขนงใบย่อยตัดขวางจำนวนมาก ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ดอกไร้ก้าน กลีบรวม 6 กลีบ เรียง 2 วง เกสรเพศผู้ 6 อัน ติดที่โคนกลีบดอก มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันในดอกเพศเมีย เกสรเพศเมียไร้ก้าน ยอดเกสรแยกเป็น 3 พู ติดทน ผลคล้ายผนังชั้นในแข็ง มี 1–3 เมล็ด

สกุล Hanguana เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Flagellariaceae เป็นสกุลเดียวของวงศ์ มีมากกว่า 15 ชนิด พบที่ศรีลังกา ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย ในไทยมี 2 ชนิด และอาจมีชนิดใหม่เพิ่มหลายชนิด (pers. Comm., L.S. Wijedasa & A. Matti) โดยเฉพาะตามพื้นที่ลาดชันในป่าดิบชื้นทางภาคใต้ ชื่อสกุลเป็นภาษาอินโดนีเซียที่เรียกกงชนิด H. kassintu Blume


กง
วันที่ 19 ตุลาคม 2559

Hanguana thailandica Wijedasa & Niissalo

Hanguanaceae

ไม้ล้มลุก ไม่มีไหล สูงได้ถึง 1 ม. ใบยาว 110–140 ซม. แผ่นใบรูปหอก ยาวได้ถึง 70–80 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีเกล็ดบาง ๆ คล้ายขน ก้านใบยาวได้ถึง 60 ซม. ใบประดับช่วงล่างคล้ายใบ โคนโอบลำต้น ช่อดอกยาวเท่า ๆ ใบ แยกแขนงแนวระนาบ แกนช่อมีเกล็ดคล้ายขนหนาแน่น ช่อดอกย่อยแนวราบ ดอกสีเขียวอมเหลือง ขนาดเล็ก ยอดเกสรเพศเมียสีดำ ติดเบี้ยว รูปใบหอก พูกว้าง 0.5 มม. ยาว 1.5 มม. ไม่แนบติดวงเกสรเพศเมีย ช่อผลตั้งตรง ผลรูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มม. สุกสีดำ

พืชถิ่นเดียวของไทย พบที่ทุ่งค่าย จังหวัดตรัง ขึ้นใต้ร่มเงาในป่าดิบชื้นระดับต่ำ ๆ ที่มีน้ำขัง หรือป่าพรุน้ำจืด

กง: H. thailandica ช่อดอกย่อยแนวรา ยอดเกสรเพศเมียสีดำ รูปใบหอก ไม่แนบติดวงเกสรเพศเมีย ผลอ่อนสีเหลือง สุกสีดำ (ภาพ: Lahiru Wijedasa, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

กง
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559

Hanguana malayana (Jack) Merr.

Hanguanaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 3 ม. มีไหลลอยน้ำได้ ยาวได้ถึง 2.5 ม. ใบรูปใบหอก ส่วนมากยาว 20–200 ซม. แผ่นใบหนา มีกาบหุ้มลำต้น ใบช่วงล่างก้านยาวกว่าของใบช่วงปลายต้น ช่อดอกยาวได้ถึง 120 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุก สีเหลืองอมเขียวหรือขาว ด้านในมีจุดสีแดง ดอกเพศผู้กลีบรวมวงนอกยาวประมาณ 1 มม. วงในยาวกว่าเล็กน้อย เกสรเพศผู้ยาวประมาณ 3 มม. ดอกเพศเมียกลีบวงนอกยาวประมาณ 2 มม. วงในยาวประมาณ 3 มม. ยอดเกสรเพศเมียแบน ติดทนที่ปลายผล ผลรูปรี เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มม. สุกสีแดงอมม่วง

พบที่ศรีลังกา เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และภาคใต้ของไทย ขึ้นในน้ำตามลำห้วย ป่าพรุ และที่ชื้นแฉะ ความสูงระดับต่ำ ๆ

ชื่อพ้อง  Veratum malayanum Jack

ชื่อสามัญ  Common Susum

ชื่ออื่น   บากง (มาเลย์-ภาคใต้); ปรง (ปัตตานี); กง (ภาคใต้)

กง: H. malayana ถิ่นที่อยู่ตามลำน้ำ ต้นสูงใหญ่ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Larsen, K. (1972). Hanguanaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(2): 164–166.

Wijedasa, L.S., A. Matti, V. Chamchumroom, P. Puudjaa, T. Jumruschay and P.C. Boyce. (2016). Hanguana thailandica (Hanguanaceae): a new peat swamp forest species from Thailand. Phytotaxa 280(2): 195–199.