รูปแบบการบรรยาย

เนื้อหาของพืชแต่ละชนิดหรือสกุลเรียงลำดับดังต่อไปนี้

ชื่อไทย

เป็นการเรียงตามลำดับอักษร โดยส่วนมากจะเป็นชื่อทางการตามหนังสือ ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557 แต่มีบางชื่อที่อาจใช้ชื่ออื่น ๆ เพื่อให้การเรียงลำดับของพืชชนิดต่าง ๆ ดูง่ายตามกลุ่มพืช และสามารถเปรียบเทียบลักษณะที่ใช้จำแนกกันได้ ส่วนชื่ออื่น ๆ ที่เรียกต่างกันในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งชื่อสามัญ (common name) ไม่ได้นำมาแสดง โดยสามารถดูได้จากหนังสือ ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ดังกล่าว หรือสืบค้นข้อมูลล่าสุดทางเวบไซต์สำนักงานหอพรรณไม้ ที่ <http://www.dnp.go.th/botany/mplant/index.aspx>

ชื่อสกุล

จะแสดงเฉพาะสกุลที่มีการบรรยายสกุลนั้น ๆ โดยมีชื่อผู้ตั้งชื่อสกุล (authors) ต่อท้าย ส่วนคำบรรยายประกอบด้วยลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของสกุล ระบบการจัดจำแนกในปัจจุบัน จำนวนชนิดทั้งหมดในสกุล เขตการกระจายพันธุ์ จำนวนชนิดที่พบในประเทศไทย ซึ่งอ้างอิงจากหนังสือพรรณพฤกษชาติต่าง ๆ และเอกสารอ้างอิงแนบท้าย ส่วนที่มาของชื่อสกุล (etymology) ส่วนมากอ้างอิงจาก Quattrocchi (2000) หรือที่ระบุไว้ในการตีพิมพ์ชื่อสกุลหรือชนิดใหม่นั้น ๆ พืชที่มีการบรรยายสกุลจะมีจำนวนชนิดมากกว่า 1 ชนิด และถ้าชนิดที่มีชื่อไม่เรียงต่อจากชื่อสกุล จะระบุให้ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่สกุลนั้น ๆ ต่อท้ายคำบรรยาย ดังนั้น การบรรยายชนิดดังกล่าวส่วนมากจะไม่บรรยายลักษณะสกุลซ้ำ เช่น การเรียงตัวของใบ ลักษณะช่อดอก จำนวนส่วนต่าง ๆ ของดอก ลักษณะรังไข่ ผล และเมล็ด เป็นต้น ซึ่งลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของชนิดจึงควรดูคำบรรยายสกุลประกอบ

ชื่อพฤกษศาสตร์

เป็นชื่อที่ได้รับการยอมรับ โดยมีเอกสารอ้างอิง และแหล่งข้อมูลรายชื่อพืชต่าง ๆ ประกอบในการตรวจสอบ ได้แก่ The International Plant Names Index หรือ IPNI (2012), The Plant List (2013), Catalogue of Life (Hassler, 2016) และ Tropicos (2016) เป็นต้น ซึ่งอาจมีบางชื่อที่แหล่งอ้างอิงต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ตรงกัน ผู้เรียบเรียงจะอ้างชื่อที่น่าจะถูกต้องและทันสมัยมากที่สุด โดยมีคำอธิบายเหตุผลประกอบ อย่างไรก็ตาม ระบบการจัดจำแนกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งผู้อ่านสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้เอง เพื่อได้ชื่ิอที่มีการปรับปรุง ณ ปัจจุบัน และถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ชื่อวงศ์

เป็นชื่อได้รับการยอมรับล่าสุดของพืชชนิดหรือสกุลนั้น ๆ ตามระบบจัดจำแนกของ Angiosperm Phylogeny Group III หรือ APG III (Stevens, 2001 onwards) ส่วนรายละเอียดความเปลี่ยนแปลงด้านจัดจำแนกของกลุ่มพืช ส่วนมากจะปรากฏในคำบรรยายสกุลหรือในส่วนที่กล่าวถึงสกุลของท้ายชนิดที่ไม่มีคำบรรยายสกุล

ชื่อพ้อง

ส่วนมากจะระบุชื่อพ้องที่เป็นชื่อ basionym หรือชื่อดั้งเดิม เพื่อให้ทราบความเปลี่ยนแปลงด้านการจัดจำแนกของพืชชนิดนั้น ๆ พอสังเขป ว่าเคยถูกจัดจำแนกอยู่สกุลใดมาก่อน และอาจมีชื่อพ้องที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง และชื่อมีการจัดจำแนกใหม่ในช่วงเวลาไม่นานมากนัก โดยเฉพาะที่ตีพิมพ์ในหนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย หรือเป็นชื่อที่ปรากฏในเอกสารอ้างอิงประกอบในการเขียนคำบรรยาย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ส่วนมากอ้างอิงจากพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย (Larsen, 1996; Santisuk & Balslev, 2014-2015; Santisuk & Larsen, 1997-2013; Smitinand & Larsen, 1970-1993) และ Flora of China (Wu & Raven, 1994-2001; Wu et al., 2001-2013) ซึ่งสามารถสืบค้นได้จากเวบไซต์ <http://flora.huh.harvard.edu/china/> เป็นหลัก แต่มีการเพิ่มเติมลักษณะที่สำคัญบ้างตามเอกสารอ้างอิงอื่น ๆ ที่แสดงท้ายคำบรรยาย ตลอดจนตรวจสอบและศึกษาตัวอย่างพรรณไม้ในหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพิ่มเติม บางครั้งไม่ระบุลักษณะที่พบส่วนใหญ่ในพืชหลายกลุ่ม เช่น ลำต้นและใบเกลี้ยง เส้นแขนงใบแบบขนนก หรือแบบเส้นขนานในพืชใบเลี้ยงเดี่ยว การแยกหรือการเชื่อมติดของกลีบเลี้ยงหรือกลีบดอก ตำแน่งและรูปร่างของรังไข่ที่ส่วนใหญ่ติดแบบเหนือรังไข่และมีขนาดเล็ก หรือลักษณะผลของพืชบางกลุ่มที่ไม่ใช่ลักษณะสำคัญในการจำแนก ส่วนไม้ต่างถิ่น ที่มีข้อมูลอ้างอิงน้อย การบรรยายลักษณะทางพฤกษศาสตร์อาจสั้น แต่ครอบคลุมลักษณะที่สำคัญทั้งของวงศ์หรือสกุล โดยมีแหล่งอ้างอิงที่สำคัญคือ Staples & Herbst (2005) และ Flora of North America Editorial Committee (1993 onwards) สำหรับคำศัพท์พฤกษศาสตร์ของพืช ส่วนมากอ้างอิงตามราชบัณฑิตยสถาน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2546 (พิมพ์ครั้งที่ 2) ส่วนการเรียงลำดับลักษณะของส่วนต่าง ๆ ใช้เกณฑ์การบรรยายจากด้านนอกเข้าสู่ด้านใน เช่น จากปลายใบจนถึงก้านใบ จากกลีบเลี้ยงจนถึงรังไข่ เป็นต้น โดยจะกล่าวถึงลักษณะวิสัยก่อนในคำบรรยายแต่ละสกุลหรือชนิด และลักษณะที่สำคัญหรือลักษณะที่ใช้จำแนกชนิดจะเป็นตัวเข้ม ส่วนลักษณะที่พิเศษหรือเด่น ๆ พบได้เฉพาะในพืชบางกลุ่ม อาจมีคำศัพท์ภาษาอังกฤษกำกับไว้ด้วย เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจที่มาของรากศัพท์และความหมายที่ถูกต้อง

ลักษณะวิสัย (habit)

เป็นไม้ล้มลุก ไม้พุ่ม ไม้เถา ไม้ต้น หรือลักษณะอื่น ๆ เช่น ราก เหง้า หัวใต้ดิน ไหล เปลือก ลำต้นเทียม มือจับ หนาม หรือน้ำยาง พืชล้มลุกไม่ได้แยกเป็นอายุปีเดียวหรือหลายปี ยกเว้นหญ้า หรืออาจระบุถิ่นที่อยู่ของพืชร่วมด้วย เช่น พืชอิงอาศัย ขึ้นบนดินหรือหิน พืชน้ำ พืชทนน้ำท่วม หรืออาจระบุเป็นไม้ผลัดใบในไม้ต้นบางชนิด ตามด้วยขนาดและความสูง สำหรับพืชที่ดอกไม่สมบูรณ์เพศ จะตามด้วยดอกแยกเพศต่างต้น (dioecious) หรือดอกแยกเพศร่วมต้น (monoecious) หรือลักษณะอื่น ๆ และก่อนที่จะบรรยายส่วนต่าง ๆ บางตอนจะบรรยายสิ่งปกคลุมหรือลักษณะขนที่ปกคลุมส่วนต่าง ๆ ของพืชในภาพรวม

หูใบ (stipules) โดยมากแยกเป็นหูใบเดี่ยว หรือหูใบร่วม ลักษณะของหูใบหรือขนาด หรือระบุว่าไม่มีหูใบ

ใบ (leaves) พืชส่วนมากจะเป็นใบเดี่ยว (simple) จึงไม่ได้ระบุไว้ จะระบุเมื่อพืชมีใบเป็นใบประกอบ หรือรูปแบบอื่น ๆ ดังนั้น รูปร่างและขนาดของใบที่แสดงจึงเป็นลักษณะของใบเดี่ยวหรือใบย่อย โดยเรียงการติด รูปร่าง ขนาด ปลายใบ โคนใบ ขอบใบ แผ่นใบ เส้นแขนงใบ เส้นโคนใบ หรือเส้นใบย่อย และความยาวก้านใบ ในการบรรยายขนาดของใบส่วนมากจะระบุเฉพาะความยาว โดยให้ดูรูปร่างประกอบ เพื่อให้ทราบความกว้างของใบพอสังเขปจากตารางคำศัพท์รูปร่างและสัดส่วนความยาว/ความกว้าง ของส่วนต่าง ๆ ของพืช ซึ่งสามารถใช้กับส่วนอื่น ๆ ของพืชได้เช่นเดียวกัน รูปร่างบางลักษณะไม่จำเป็นต้องดูสัดส่วนดังกล่าว เช่น รูปลิ่มแคบ และรูปเส้นด้าย เป็นต้น อนึ่ง ปลายใบ โคนใบ และจำนวนเส้นแขนงใบ อาจไม่ปรากฏในคำบรรยายเนื่องจากไม่ใช่ลักษณะสำคัญที่ใช้จำแนกชนิด

ตารางคำศัพท์รูปร่างและสัดส่วนความยาว/ความกว้าง (ปรับปรุงจาก Radanachaless & Maxwell, 1994)

ความยาว/ความกว้าง ปลายกว้าง กลางกว้าง โคนกว้าง
ประมาณ 1 - รูปกลม -
1-2 รูปไข่กลับ รูปรี รูปไข่
2-3 รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ รูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปไข่
3-5 รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ รูปใบหอก รูปใบหอกแกมรูปไข่
5-10 หรือมากกว่า รูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ รูปแถบ -

 

ช่อดอก (inflorescences)

ช่อดอกของพืชมักจะเป็นรูปแบบหรือชนิดเดียวกันในพืชสกุลเดียวกันหรือในวงศ์เดียวกัน รวมถึงการเรียงที่ออกตามซอกใบ ปลายกิ่ง หรือตามลำต้น คำบรรยายส่วนมากจะระบุถึงความยาวของช่อดอก ช่อแยกแขนง หรือแยกเป็นแกนช่อ ก้านช่อ ใบประดับหรือใบประดับย่อย พืชบางชนิดอาจระบุจำนวนดอกในแต่ละช่อที่เป็นลักษณะใช้แยกชนิดในพืชกลุ่มนั้น ๆ

ดอก (flowers)

เช่นเดียวกับช่อดอกที่มักจะเป็นรูปแบบเดียวกันในพืชสกุลเดียวกันหรือในวงศ์เดียวกัน คำบรรยายแยกเป็นก้านดอก ฐานดอก ริ้วประดับ กลีบเลี้ยง กลีบดอก หรือกลีบรวม และจานฐานดอก ส่วนมากมีทั้งการเรียง รูปร่าง จำนวน ขนาด สี และสิ่งปกคลุม ในกรณีดอกมีเพศเดียวจะบรรยายดอกเพศผู้ก่อนดอกเพศเมีย สำหรับรูปร่างและสีของดอก ในที่นี้ส่วนมากหมายถึงของวงกลีบดอก (corolla) ในกรณีที่ไม่มีกลีบดอก อาจหมายถึงของวงกลีบเลี้ยง (calyx) หรือวงกลีบรวม (perianth) ในพืชบางชนิดอาจมีการบรรยายรูปร่างและสีของกลีบเลี้ยงและกลีบดอกแยกกันอย่างชัดเจน

วงเกสรเพศผู้ (androecium)

ส่วนมากจะระบุรูปแแบบและการติดของก้านชูอับเรณูหรืออับเรณูในพืชบางกลุ่ม ความยาวก้านชูอับเรณู แต่อับเรณูส่วนมากไม่ระบุความยาว แต่อาจกล่าวถึงรูปร่าง แกนอับเรณู การแตก รูเปิด หรือจำนวนช่องอับเรณู ในพืชบางกลุ่มที่ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นเส้าเกสร (column) มีก้านชูเกสรเพศผู้ (androphore) หรืิอมีก้านชูเกสรร่วม (androgynophore) สำหรับในพืชเมล็ดเปลือยใช้ใบสร้างอับไมโครสปอร์ (microsporophyll)

วงเกสรเพศเมีย (gynoecium)

ส่วนใหญ่พืชจะมีรังไข่เหนือวงกลีบ ซึ่งจะไม่กล่าวถึงในคำบรรยาย จะระบุกลุ่มพืชที่รังไข่ใต้วงกลีบหรือกึ่งใต้วงกลีบ จำนวนช่องรังไข่ (locule) พืชบางกลุ่มเรียกเป็นคาร์เพล โดยเฉพาะที่ผลเป็นผลกลุ่ม มีหนึ่งหรือหลายคาร์เพล เชื่อมหรือแยกกัน พืชบางกลุ่มโดยเฉพาะในการบรรยายสกุลอาจระบุชนิดของพลาเซนตา จำนวนหรือการติดของออวุล ส่วนเกสรเพศเมียแยกเป็นก้านเกสรและยอดเกสร ส่วนมากระบุถึงจำนวน การเชื่อมติดกัน และรูปร่างยอดเกสร พืชบางกลุ่มมีก้านชูวงเกสรเพศเมีย (gynophore) หรือ ฐานก้านยอดเกสรเพศเมีย (stylopodium) สำหรับในพืชเมล็ดเปลือยใช้ใบสร้างอับเมกะสปอร์ (megasporophyll)

ผล (fruit)

ชนิด รูปร่าง และขนาดของผล ส่วนมากมีความสำคัญในการจำแนก แต่ในพืชบางกลุ่มไม่ได้กล่าวถึง เนื่องจากมีความสำคัญในการจำแนกชนิดน้อยมาก เช่น กล้วยไม้ ที่ส่วนมากเป็นผลแบบผลแห้งแตก (capsule) นอกจากนี้ ผลแบบพิเศษต่าง ๆ เช่น ผลแบบมะเดื่อในพืชวงศ์ไทร ที่ผลย่อยอยู่ภายในฐานดอกที่ขยายใหญ่ และอวบน้ำ เรียกว่า fig หรือ synconium ที่ใช้ทับศัพท์ใต้คำบรรยายภาพ ส่วนเมล็ดที่มักมีจำนวนเท่าออวุล อาจบรรยายอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างในชนิดที่จำนวนไม่เท่ากัน เและเมล็ดจะบรรยายเฉพาะในพืชบางกลุ่มที่รูปร่าง ขนาด หรือสิ่งปกคลุมมีความสำคัญในการใช้จำแนก
สำหรับพืชกลุ่มเฟินมีการบรรยายแตกต่างจากพืชทั่วไปเล็กน้อย โดยระบุลักษณะวิสัยที่ขึ้นบนดิน บนหิน หรืออิงอาศัย ลักษณะเหง้า และเกล็ดที่ปกคลุม ใบที่มักจะแยกเป็น ใบไม่สร้างสปอร์ และใบสร้างสปอร์ ลักษณะการแตกแขนงของเส้นใบ รูปร่างกลุ่มอับสปอร์ การติด เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์ และอับสปอร์ คำศัพท์และข้อมูลเฟินส่วนมากอ้างอิงจาก Lindsay & Middleton (2012 onwards)

การกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา

การกระจายพันธุ์ของพืชในที่นี้แบ่งออกเป็นของสกุลและชนิด ซึ่งของสกุลส่วนมากระบุในภาพรวม เช่น เขตร้อน กึ่งเขตร้อน เขตอบอุ่น หรือชื่อทวีปต่าง ๆ ส่วนของชนิดจะระบุเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะมากยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่เป็นชื่อเขตภูมิศาสตร์พืชพรรณ หรือชื่อประเทศ ซึ่งเรียงลำดับจากทางทวีปอเมริกา แอฟริกา มาดากัสการ์ ทวีปยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก การกระจายพันธุ์ในเอเชียเรียงลำดับจากเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยแบ่งตามภาคภูมิศาสตร์พืชพรรณ (floristic regions) ตามหนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย และชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557 ตามด้วยชื่อสถานที่หรือจังหวัด และถิ่นที่อยู่หรือนิเวศวิทยาที่พบ ส่วนมากระบุเป็นป่าประเภทต่าง ๆ อ้างอิงตามหนังสือป่าของประเทศไทย (ธวัชชัย สันติสุข, 2550) และความสูง ในที่นี้หมายถึงความสูงเหนือจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (altitude) นอกจากชื่อประเทศ ชื่อสถานที่ ชื่อเกาะและหมู่เกาะ ยังมีชื่ออื่น ๆ และชื่อเขตภูมิศาสตร์พืชพรรณที่ใช้ในแสดงขอบเขตการกระจายพันธุ์ ได้แก่

จีนตอนใต้ (South China) หมายถึง มณฑลยูนนานและใกล้เคียงของประเทศจีน ซึ่งรวมถึงทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนไห่หนาน และไต้หวันได้เขียนแยกต่างหาก

เอเชียใต้ (South Asia) หมายถึง อินเดีย รวมหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ แอฟกานิสถาน ปากีสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล และภูฏาน

เอเชียตะวันออก (East Asia) หมายถึง จีนทางตะวันออก รวมไต้หวัน เกาหลี และญี่ปุ่น แต่ไม่รวมมองโกเลีย

ภูมิภาคอินโดจีน (Indocina) หมายถึง ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

ภูมิภาคมาเลเซีย (Malesia) หมายถึงคาบสมุทรมลายู และหมู่เกาะต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างเอชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่กับออสเตรเลีย ในที่นี้ฟิลิปปินส์ และนิวกินีได้ระบุแยกต่างหาก 

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia) หมายถึงพม่า ลาว กัมพูชา ไทย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี และติมอร์-เลสเต

ปาปัวเซีย (Papuasia) หมายถึงปาปัวนิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน และหมู่เกาะ Aru ของอินโดนีเซีย ซึ่งทั้งหมดอยู่เขตภูมิศาสตร์เมลานีเซีย

หมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Islands) หมายถึง หมู่เกาะต่าง ๆ ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ได้แก่ ไมโครนีเซีย เมลานีเซีย (แต่ไม่รวมนิวกินี) และโพลินีเซีย

การใช้ประโยชน์

การใช้ประโยชน์พืชที่กล่าวถึงเกือบทั้งหมดอ้างตาม Quattrocchi (2012) ที่ส่วนใหญ่เป็นการใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพรการแพทย์แผนโบราณ “Ayurveda” ของอินเดียที่มีมายาวนานกว่า 3000 ปี หรืิอ “Siddha” ที่มีต้นกำเนิดทางภาคใต้ของอินเดีย และ “Unani” ที่มีต้นกำเนิดในเอเชียกลาง ตลอดจนสรรพคุณทั่ว ๆ ไป มีทั้งสรรพคุณเชิงเดี่ยวและเชิงตำรับ สรรพคุณต่อสัตว์เลี้ยง และตอนระบุถึงความเป็นพิษด้วย ซึ่งรายพืชสมุนไพรเหล่านี้มีชื่อวิทยาศาสตร์กำกับชัดเจน แม้ว่าบางชื่ออาจกลายเป็นชื่อพ้อง และมีเอกสารอ้างอิง ส่วนประโยชน์ด้านสมุนไพรไทยได้กล่าวถึงเฉพาะที่อ้างอิงจากหนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทยหรือตามเอกสารอ้างอิง ซึ่งผู้อ่านสามารถสืบค้นได้จากหนังสือด้านสมุนไพรไทยต่าง ๆ ที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะตำราแพทย์แผนไทย ซึ่งควรเปรียบเทียบชื่อไทยกับชื่อทางพฤกษศาสตร์ให้ถูกต้อง เนื่องจากมีตำราแพทย์แผนไทยบางส่วนที่มีชื่อพฤกษศาสตร์กำกับ

นอกจากข้อมูลต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับการจัดจำแนกของชนิดหรือสกุลนั้น ๆ ปรากฏข้างท้ายต่อจากคำบรรยาย แต่ไม่มีรายละเอียดลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของสกุลเหมือนสกุลที่มีคำบรรยาย และคำระบุชนิดอธิบายเฉพาะชื่อที่ตั้งเพื่อเทิดพระเกียรติฯ หรือตั้งตามชื่อนักพฤกษศาสตร์ของไทย ส่วนคำระบุที่มาจากภาษาละตินที่มีความหมาย สามารถสืบค้นความหมายของคำศัพท์ได้ในหนังสือ Botanical Latin (Stern, 1992) ส่วนมากจึงไม่ได้เขียนคำอธิบายความหมายไว้

เอกสารอ้างอิง

การอ้างอิงตามเอกสารแนบท้าย ส่วนมากเป็นการอ้างอิงด้านชื่อพฤกษศาสตร์ การบรรยายลักษณะทางพฤกษศาสตร์ และเขตการ
กระจายพันธุ์ ส่วนข้อมูลด้านอื่น ๆ เช่น ระบบการจัดจำแนก หรือการใช้ประโยชน์ จะอ้างอิงตามบรรณานุกรมที่ปรากฏในท้ายบทนำ บางชนิดควรดูเอกสารอ้างอิงของสกุลประกอบ โดยเฉพาะที่เปลี่ยนสกุลใหม่ สำหรับรูปแบบการเขียนเอกสารอ้างอิงส่วนมากเป็นแบบสั้น และการอ้างอิงเวบไซต์ไม่ได้ระบุวันที่สืบค้น ซึ่งส่วนมากเป็นการสืบค้นหลายครั้งในช่วงเวลาที่เรียบเรียงและตรวจสอบข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม พ.ศ. 2558 อนึ่ง ชื่อผู้แต่ง George Staples เขียนเป็น Staples, G. ยกเว้นหนังสือ A tropical garden flora ที่ใช้ Staples, G.W. และใช้ชื่อ Ding Hou แทน Hou, D. เนื่องจากใช้แพร่หลายมากกว่า ทั้งนี้นอกจากเอกสารอ้างอิงที่ระบุแนบท้ายในพืชแต่ละสกุลหรือชนิด ผู้อ่านสามารถค้นคว้า และศึกษาข้อมูลเอกสารอ้างอิงเพิ่มเติมได้จากหนังสือ A bibliography of taxonomic revisions for vascular plants in Thailand (Mauric et al., 2011) หรือสืบค้นได้ที่ http://www.dnp.go.th/botany/Bibliography/Default.htm

คำบรรยายภาพ

คำบรรยายใต้ภาพเกือบทั้งหมดเป็นการนำคำบรรยายลักษณะพฤกษศาสตร์บางส่วนทั้งของชนิดหรือของสกุล บางชนิดที่ไม่มีคำบรรยายอาจระบุลักษณะที่เห็นได้ชัดเจนในภาพประกอบ ตามด้วยสถานที่ถ่ายภาพ และชื่อผู้ถ่ายภาพเป็นอักษรย่อภาษาอังกฤษ ชื่อเต็มของผู้ถ่ายภาพระบุไว้ท้ายหนังสือ ชื่อไทยที่ซ้ำกันใต้ภาพจะมีชื่อวิทยาศาสตร์แบบย่อกำกับไว้ในกรณีที่เป็นข้อมูลชุดเดียวกัน

บรรณานุกรม

ธวัชชัย สันติสุข. (2550). ป่าของประเทศไทย. สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. กรุงเทพฯ.
ราชันย์ ภู่มา และสมราน สุดดี (บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557. สำนักงานหอพรรณไม้
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. กรุงเทพฯ.
ราชบัณฑิตยสถาน. (2546). ศัพท์พฤกษศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม. ราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ
Flora of North America Editorial Committee, eds. (1993 onwards). Flora of North America North of Mexico. 19+ vols. New York and Oxford. <http://www.efloras.org>.
Hassler, M. (2016). World plants: Synonymic checklists of the vascular plants of the world. In: Species 2000 & ITIS Catalogue of Life, 2015 Annual Checklist (Y. Roskov, L. Abucay, T. Orrell, D. Nicolson, T. Kunze, C. Flann, N. Baill, P. Kirk, T. Bourgoin, R.E. DeWalt, W. Decock, A. de Wever, eds). Digital resource at www.catalogueoflife.org/col. Species 2000: Naturalis, Leiden, the Netherlands. ISSN 2405-8858.
Larsen, K., ed. (1996). Flora of Thailand Vol. 6(2). Diamond Printing, Bangkok.
Lindsay, S. and D.J. Middleton. (2012 onwards). Ferns of Thailand, Laos and Cambodia. <http://rbg-web2.rbge.org.uk/thaiferns/>.
Mauric, A., R. Pooma and N. Pattharahirantricin. (2011). A bibliography of taxonomic revisions for vascular plants in Thailand. The Forest Herbarium. Department of National Parks, Wildlife and Plant Conservation. Bangkok.
Quattrocchi, U. (2000). CRC World dictionary of plant names: Common names, scientific names, eponyms, synonyms, and etymology. Volumes 1-5. CRC Press. 
Quattrocchi, U. (2012). CRC World dictionary of medicinal and poisonous plants common names, scientific names, eponyms, synonyms, and etymology. Volumes 1-5. CRC Press.
Radanachaless T. and J.F. Maxwell. (1994). Weed of soybean fields in Thailand. Multiple Cropping, Center Publications. Thailand.
Santisuk, T. and H. Balslev, eds. (2014). Flora of Thailand Vol. 11(4). Prachachon Co. Ltd., Bangkok.
________. (2014). Flora of Thailand Vol. 12(2). Prachachon Co. Ltd., Bangkok.
________. (2015). Flora of Thailand Vol. 13(1). Prachachon Co. Ltd., Bangkok.
Santisuk, T. and K. Larsen, eds. (1997). Flora of Thailand Vol. 6(3). Diamond Printing, Bangkok.
________. (1998). Flora of Thailand Vol. 6(4). Diamond Printing, Bangkok.
________. (1999). Flora of Thailand Vol. 7(1). Diamond Printing, Bangkok.
________. (2000). Flora of Thailand Vol. 7(2). Diamond Printing, Bangkok.
________. (2001). Flora of Thailand Vol. 7(3). Prachachon Co. Ltd., Bangkok.
________. (2002). Flora of Thailand Vol. 7(4). Prachachon Co. Ltd., Bangkok.
________. (2005). Flora of Thailand Vol. 8(1). Prachachon Co. Ltd., Bangkok.
________. (2005). Flora of Thailand Vol. 9(1). Prachachon Co. Ltd., Bangkok.
________. (2007). Flora of Thailand Vol. 8(2). Prachachon Co. Ltd., Bangkok.
________. (2008). Flora of Thailand Vol. 9(2). Prachachon Co. Ltd., Bangkok.
________. (2008). Flora of Thailand Vol. 9(3). Prachachon Co. Ltd., Bangkok.
________. (2008). Flora of Thailand Vol. 9(4). Prachachon Co. Ltd., Bangkok.
________. (2009). Flora of Thailand Vol. 10(1). Prachachon Co. Ltd., Bangkok.
________. (2010). Flora of Thailand Vol. 10(2). Prachachon Co. Ltd., Bangkok.
________. (2010). Flora of Thailand Vol. 10(3). Prachachon Co. Ltd., Bangkok.
________. (2011). Flora of Thailand Vol. 10(4). Prachachon Co. Ltd., Bangkok.
________. (2011). Flora of Thailand Vol. 11(1). Prachachon Co. Ltd., Bangkok.
________. (2011). Flora of Thailand Vol. 12(1). Prachachon Co. Ltd., Bangkok.
________. (2012). Flora of Thailand Vol. 11(2). Prachachon Co. Ltd., Bangkok.
________. (2013). Flora of Thailand Vol. 11(3). Prachachon Co. Ltd., Bangkok.
Smitinand, T. and K. Larsen, eds. (1970). Flora of Thailand Vol. 2(1). The ASRCT Press, Bangkok.
________.(1972). Flora of Thailand Vol. 2(2). The ASRCT Press, Bangkok.
________. (1975). Flora of Thailand Vol. 2(3). The ASRCT Press, Bangkok.
________. (1979). Flora of Thailand Vol. 3(1). The TISTR Press, Bangkok.
________. (1981). Flora of Thailand Vol. 2(4). The TISTR Press, Bangkok.
________. (1984). Flora of Thailand Vol. 4(1). The TISTR Press, Bangkok.
________. (1985). Flora of Thailand Vol. 4(2). The TISTR Press, Bangkok.
________. (1985). Flora of Thailand Vol. 3(2). Phonphan Printing Company, Bangkok.
________. (1987). Flora of Thailand Vol. 5(1). The Chutima Press, Bangkok.
________. (1988). Flora of Thailand Vol. 3(3). The Chutima Press, Bangkok.
________. (1989). Flora of Thailand Vol. 3(4). The Chutima Press, Bangkok.
________. (1990). Flora of Thailand Vol. 5(2). The Chutima Press, Bangkok.
________. (1991). Flora of Thailand Vol. 5(3). The Chutima Press, Bangkok.
________. (1992). Flora of Thailand Vol. 5(4). The Chutima Press, Bangkok.
________. (1993). Flora of Thailand Vol. 6(1). The Rumthai Press, Bangkok.
Staples, W.G. and D.R. Herbst. (2005). A tropical garden flora: plants cultivated in the Hawaiian Islands and other tropical places. Honolulu, Hawai’i: Bishop Museum Press.
Stern, W.T., 4th edition. (1992). Botanical Latin. David & Charles, Newton Abbot, Devon.
Stevens, P.F. (2001 onwards). Angiosperm Phylogeny Website. Version 12, July 2012 [and more or less continuously updated since]. http://www.mobot.org/MOBOT/research/APweb/.
The International Plant Names Index (2012). Published on the Internet http://www.ipni.org.
The Plant List (2013). Version 1.1. Published on the Internet; http://www.theplantlist.org/
Tropicos.org. (2016). Missouri Botanical Garden. <http://www.tropicos.org>
World Conservation Monitoring Centre of the United Nations Environment
Programme (UNEP-WCMC). (2004). Species data (unpublished, September 2004).
Wu, Z.Y. and P.H. Raven, eds. (1994). Flora of China. Vol. 17 (Verbenaceae through Solanaceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St. Louis.
________. (1995). Flora of China. Vol. 16 (Gentianaceae through Boraginaceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St. Louis.
________. (1996). Flora of China. Vol. 15 (Myrsinaceae through Loganiaceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St. Louis.
________. (1998). Flora of China. Vol. 18 (Scrophulariaceae through Gesneriaceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St. Louis.
________. (1999). Flora of China. Vol. 4 (Cycadaceae through Fagaceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St. Louis.
________. (2000). Flora of China. Vol. 24 (Flagellariaceae through Marantaceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St. Louis.
________. (2001). Flora of China. Vol. 8 (Brassicaceae through Saxifragaceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St. Louis.
Wu, Z.Y., P.H. Raven and D.Y. Hong, eds. (2001). Flora of China. Vol. 6 (Caryophyllaceae through Lardizabalaceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St. Louis.
________. (2003). Flora of China. Vol. 5 (Ulmaceae through Basellaceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St. Louis.
________. (2003). Flora of China. Vol. 9 (Pittosporaceae through Connaraceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St. Louis
________. (2005). Flora of China. Vol. 14 (Apiaceae through Ericaceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St. Louis.
________. (2006). Flora of China. Vol. 22 (Poaceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St. Louis.
________. (2007). Flora of China. Vol. 12 (Hippocastanaceae through Theaceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St. Louis.
________. (2007). Flora of China. Vol. 13 (Clusiaceae through Araliaceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St. Louis.
________. (2008). Flora of China. Vol. 7 (Menispermaceae through Capparaceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St. Louis.
________. (2008). Flora of China. Vol. 11 (Oxalidaceae through Aceraceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St. Louis.
________. (2009). Flora of China. Vol. 25 (Orchidaceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St. Louis.
________. (2010). Flora of China. Vol. 10 (Fabaceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St. Louis.
________. (2010). Flora of China. Vol. 23 (Acoraceae through Cyperaceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St. Louis.
________. (2011). Flora of China. Vol. 19 (Cucurbitaceae through Valerianaceae, with Annonaceae and Berberidaceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St. Louis.
________. (2011). Flora of China Volume 20-21 (Asteraceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St. Louis. ________. (2013). Flora of China. Vol. 2-3 (Lycopodiaceae through Polypodiaceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St.